Nat Sumanatemeya Fanpage

Nat Sumanatemeya Fanpage

ตำแหน่งใกล้เคียง บริการถ่ายภาพ

06.11 Photograph
06.11 Photograph

ภาพและเรื่องทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของ
นัท สุมนเตมีย์

04/09/2024

Kelp Forest Baja California Mexico 2015 ป่า Kelp เป็นระบบนิเวศใต้ทะเลของเขตอบอุ่น สาหร่าย Kelp เป็นสิ่งมีชีวิตที่เติบโตเร็วที่สุดชนิดหนึ่งในโลก ในแต่ละวันมันอาจจะมีลำต้นยาวขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 1 ฟุต ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม Giant kelp เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงจากพื้นถึงเรือนยอดมากกว่า 70 ฟุต และจะมี Bladder หรือทุ่นช่วยพยุงให้เรือนยอดของมันตั้งขึ้นและลอยอยู่เหนือผิวน้ำ

12/08/2024

แม่ Manatee เฝ้าคอยดูแลลูกน้อยไม่ห่าง Crystal river Florida 2018

07/08/2024

ฉลามหัวบาตร หรือ Bull Shark ที่ Beqa Lagoon ประเทศฟิจิ ฉลามหัวบาตรเป็นฉลามขนาดใหญ่ ที่สามารถปรับตัวให้เข้ามาอาศัยในบริเวณน้ำจืดได้ เป็นฉลามที่มักจะพบบ่อยในบริเวณใกล้กับปากแม่น้ำ หรือริมชายฝั่งทะเล และในพื้นที่ที่มีความเค็มของน้ำค่อนข้างต่ำ

ที่ Beqa lagoon ประเทศฟิจิ เป็นพื้นที่หนึ่งที่เราอาจจะพบฉลามหัวบาตรฝูงใหญ่ๆนับร้อยตัวเสมอๆ

ฉลามหัวบาตรเมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 3 เมตร และมีลำตัวค่อนข้างอ้วนป้อม เมื่อเทียบกับฉลามในแนวปะการังชนิดอื่นๆ ด้วยลักษณะหัวที่ค่อนข้างจะป้านออกไม่แหลมเหมือนฉลามหลายๆชนิด ทำให้เป็นที่มาของชื่อ ฉลามหัวบาตร เพราะว่ารูปทรงของหัวของมันนั้นจะโค้งออกและมีขนาดพอๆกับ บาตรของพระ

ในเมืองไทยสามารถพบเห็นฉลามหัวบาตรได้ทั้งสองฝั่งฟากทะเลไทย ทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

20/06/2024

Boto หรือ Amazon river dolphin โลมาสีชมพู ของจริงที่อาศัยอยู่ใน สาขาของแม่น้ำในทวีปอเมริกาใต้ ทั้งในแอ่งที่ราบลุ่มน้ำแอมมะซอน และลำนำ้สาขาใกล้เคียง แม่น้ำ Madeira River ใน Bolivia และ Orinico Basin ใน Venezuela

Amazon river dolphin เป็นโลมาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้จะมีน้ำหนักเกือบ 200 กิโลกรัม และมีขนาดประมาณ 2.5 เมตร

ผมบันทึกภาพนี้จาก Rio negro ที่เป็นสาขาของแม่น้ำ แอมมะซอน (ท่ีไม่มีกาแฟขาย) ในประเทศบราซิล

12/06/2024

กระเบนผีเสื้อ หรือ Butterfly ray แม้ว่าจะเป็นปลากระเบนที่พบได้ในน่านน้ำร้อนทั่วโลก แต่กลับเป็นปลากระเบนที่นักดำน้ำพบเห็นกันได้ไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับปลากระเบนชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มปลากระเบนนก Eagle ray หรือ แม้แต่กลุ่มปลากระเบนปีศาจ หรือ Mobula ray ก็ตาม

ผมดำน้ำมากว่า 30ปี มีโอกาสได้พบเห็นปลากระเบนผีเสื้อเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ในระหว่างการลงดำน้ำในบริเวณจุดดำน้ำที่ชื่อว่า Aliwal shoal ที่เป็นแนวปะการังนอกชายฝั่งแอฟริกาใต้เมื่อหลายปีก่อน ในขณะที่ลงไปเฝ้าชมและบันทึกภาพฉลาม Sand tiger shark หรือว่า Grey Nurse Shark ที่พบเป็นจำนวนมากในบริเวณนั้น

เจ้าปลากระเบนหน้าตาแปลกตัวนี้อยู่ดีดีก็ว่ายน้ำโบกปีกของมันโผล่เข้ามากลางวง ก่อนที่จะว่ายทวนกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากหายไป และอยู่ๆอีกสักพักใหญ่ๆในช่วงปลายไดฟ์ ก็วนกลับมาอีกรอบหนึ่ง(ที่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นปลาตัวเดียวกัน หรือว่าคนละตัว)

05/06/2024

World Ocean Day 2024 วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันมหาสมุทรโลก เพื่อให้เราหันมาใส่ใจและตระหนักถึงคุณค่าของท้องทะเลและมหาสมุทร ที่เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตบนโลกใบนี้

ผมใช้เวลาหลายปีในชีวิตที่ผ่านมาเดินทางไปในหลายพื้นที่ของท้องทะเลและมหาสมุทร ได้มีโอกาสบันทึกภาพและได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของท้องทะเลในหลายๆพื้นที่มานานพอสมควร แทบไม่มีที่แห่งไหนบนโลกที่ผมเดินทางกลับไปครั้งที่สองแล้วพบว่ามันดีขึ้น หรือสมบูรณ์ขึ้น หลายๆครั้งที่เดินทางไปยังที่เดิมแล้วพบว่ามันยังเหมือนเดิมก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีแล้ว วิดีโอชุดนี้ผมบันทึกมาจากการเดินทางไปในหลากหลายพื้นที่บนโลกใบนี้ รวมทั้งในท้องทะเลไทยในช่วงประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้

หลายร้อยหลายพันปีที่ผ่านมา มนุษย์ในหลากหลายวัฒนธรรมต่างเรียนรู้ที่จะรู้จักกับท้องทะเลในแง่มุมและมุมมองที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรมและใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติด้วยขีดข้อจำกัดทางเทคโนโลยีที่มี ตั้งแต่การประมงริมชายฝั่งที่ขับเคลื่อนไปด้วยแรงลมจากธรรมชาติกับใบเรือ ด้วยเบ็ดตกปลา หรือตาข่ายผืนเล็กๆ เพื่อหากินอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับธรรมชาติ

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นและโลกก้าวเข้าสู่ระบบทุนนิยมแบบเต็มตัว มนุษย์ได้ใช้ทรัพยากรแบบล้างผลาญมากขึ้น เทคโนโลยีในเรื่องการประมงพัฒนาขึ้นมามากมายในช่วงหลังสงครามโลก เรือประมงพานิชย์พัฒนาให้มาให้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อหล่อเลี้ยงโลกที่หิวโหย พื้นที่ริมชายฝั่งถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนัก เพื่อผลิตสิ่งของเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบทุนนิยมเต็มตัว น้ำและของเสียทั้งหลายที่เกิดจากอุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงภาคเกษตรกรรม จากต้นน้ำทุกแห่ง ขยะและมลพิษต่างๆบนโลกใบนี้ ต่างไหลลงไปรวมกันที่ท้องทะเลและมหาสมุทร

หลายปีที่ผ่านมาเราเพิ่งจะมาตระหนักว่า พลังงานฟอลซิลที่เราใช้กันอย่างมหาศาลทั่วโลกส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างช้าๆและมีอัตราเร่งอันน่าตกใจ ขยะพลาสติกที่เกิดจากนวัตกรรมเมื่อประมาณ 50 ปีก่อนกลายเป็นมลภาวะที่ย่อยสลายไม่ได้ตกค้างและเพิ่มขึ้นในท้องทะเลมากขึ้นทุกปี การเติบโตของระบบทุนนิยมที่ผลิตของจำนวนมากทั่วโลกต่างใช้ท้องทะเลเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า ที่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการอพยพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายๆชนิด ในตระกูลวาฬและโลมา การเติบโตของอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องมาด้วยการค้นหาแหล่งพลังงานและเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ มาจนถึงอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและเคมีในท้องทะเล การเติบโตของอตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ทำให้พื้นที่ชายฝั่งกลายเป็นโรงแรมที่พักและเมืองใหญ่ ที่แสงสว่างในยามค่ำคืนส่งผลกระทบกับการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเลในบริเวณริมชายหาด

ทุกกิจกรรมและการผลิตรวมไปถึงการบริโภคของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของท้องทะเลทั้งหมด

ปรากฏการณ์หลายๆอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น และรุนแรงมากขึ้น อาจจะทำให้เราตระหนักมากขึ้นถึงการเปลี่ยนแปลงและการสูญเสีย แต่นั่นอาจจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของจุดจบของสมดุลธรรมชาติบนโลกใบนี้ หากมนุษย์ยังไม่เปลียนแปลงพฤติกรรมของตนเองในการบริโภค

ไม่ว่าเราจะทุ่มเทเงินทองหรือทรัพยากรไปเท่าไร เราไม่สามารถทดแทนธรรมชาติที่สูญเสียไปได้ เราไม่สามารถที่จะสกัดสร้างปะการังขึ้นมาในห้องแลปเพื่อทดแทนปะการังที่ตายลงไปจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้แม้สักโพลิบเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้อยู่ภายใต้สมดุลของธรรมชาติที่ซับซ้อนเกินกว่าเราจะเข้าใจได้ด้วยสติปัญญาอันจำกัดของเรา

สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดก็คือการรักษาสิ่งที่เหลือไว้ ด้วยการใช้ทรัพยากรทุกอย่างบนโลกใบนี้อย่างชาญฉลาด และใช้ทรัพยากรทุกชิ้นให้คุ้มค่ามากที่สุด

31/05/2024

Manatee ในขณะที่นอนพักผ่อนอยู่ในบริเวณด้านในของ Three sister springs ซึ่งเป็นน้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่อื่นๆในบริเวณ Crystal River ในมลรัฐ Florida สหรัฐอเมริกา

ทุกปีในช่วงฤดูหนาว Manatee ที่อาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวเมกซิโกจะมารวมตัวกันในบริเวณนี้ เพื่ออาศัยความอุ่นจากน้ำพุร้อน และมีบางส่วนจะไปอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้ๆกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีอยู่หลายแห่งในบริเวณนั้น เพื่ออาศัยความร้อนที่ปลดปล่อยออกมาในน้ำบริเวณรอบๆโรงงานไฟฟ้าเหล่านั้นที่จะทำให้น้ำอุ่นกว่าในบริเวณอื่นๆ

แทบทุกครั้งในช่วงหลังถ้ามีโอกาสไปสหรัฐอเมริกาในช่วงฤดูหนาว ผมมักจะแวะเวียนไปที่ Crystal river เสมอๆ

Crystal river เป็นเมืองเล็กๆใน Florida ที่มีประชากรเพียง ไม่ถึง 4000 คน บ้านพักหลายๆแห่งอยู่ติดกับแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับอ่าวเมกซิโก มีบ้านพักริมน้ำหลายๆแห่งให้เช่า ในช่วงฤดูหนาว Manatee ก็จะมาปรากฏตัวในแม่น้ำ บางบ้านที่มีสระว่ายน้ำที่เชื่อมกับแม่น้ำ ในบางวัน Manatee ก็จะโผล่เข้ามาในสระว่ายน้ำ หรืออู่จอดเรือในบ้าน

Crystal river เป็นเมืองเล็กๆที่เศรษฐกิจของเมืองขับเคลื่อนด้วยสัตว์สองสามชนิดคือ ปลา Tarpon ในช่วงฤดูร้อน และ Manatee ในฤดูหนาว ที่ผู้คนจากต่างถิ่นจะเดินทางมาตกปลา Tarpon ในช่วงฤดูร้อน และมาดู Manatee ในฤดูหนาวของทุกปี

ผู้คนในชุมชนที่นี่คุ้นเคยกับ Manatee มานานหลายสิบปี ในขณะที่นักท่องเที่ยวอย่างเราตื่นเต้นกับสัตว์ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์นี้

ในช่วงฤดูหนาวในบางปีที่มีจำนวน Manatee เข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมากใน Three sister springs ก็จะมีการปิดโดยเอาเชือกมาล้อมกั้นไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาว่ายน้ำหรือดำน้ำดู Manatee ในบริเวณด้านใน Three sister springs แต่ถ้ามีจำนวน Manatee ไม่มากนัก ก็จะสามารถที่จะว่ายน้ำ หรือพายเรือคายักเข้ามาชม Manatee ได้

Florida Fish and Wildlife Conservation Commission หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับ กิจกรรมเกี่ยวกับการตกปลาและกิจกรรมที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า ได้ออกกฏและข้อปฎิบัติต่างๆในการเฝ้าชม Manatee ไว้อย่างรัดกุม ที่เราจะต้องศึกษาก่อนจะไปทำกิจกรรมต่างๆด้วยตนเอง และจะมี Park Ranger และอาสาสมัครที่คอยไปเฝ้าดูแลนักท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา ถ้าพบการกระทำผิดก็จะตักเตือน หรือเปรียบเทียบปรับ หรือดำเนินคดีตามกฏหมายทันที

ป.ล. การเฝ้าชม Manatee นั้นมีกฏมากมาย แต่กฏข้อแรกที่สำคัญที่สุดคือห้ามว่ายน้ำไล่ Manatee (บริษัทท่องเที่ยวหลายแห่งถึงกับห้ามใส่ฟินหรือตีนกบเลยเพราะกลัวไปว่ายน้ำไล่ Manatee )ห้าม Free dive ลงไปหรือทำให้ Manatee ที่พักผ่อนอยู่ตกใจตื่น ห้ามใช้แฟลชในการถ่ายภาพ
สิ่งที่เราทำได้คือเข้าไปลอยตัวอยู่เฉยๆในบริเวณผิวน้ำแล้วรอจังหวะให้ Manatee เป็นฝ่ายเข้ามาหาเราเอง

27/05/2024

Spikefin goby (Discordipinna griessingeri) เป็นปลาบู่ตัวเล็กๆที่มีรูปร่างและสีสันที่งดงามมาก เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณเพียง 2-3 เซนติเมตรเพียงเท่านั้น

แม้ว่าเป็นปลาที่ข้อมูลใน Fishbase ระบุว่าแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในน่านน้ำอินโดแปซิฟิก ไปจนถึงทะเลแดง ในญี่ปุ่นและไต้หวัน รวมถึงฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

แต่ Spikefin goby นั้นมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดของแนวปะการังหรือใต้โพรงหิน ทำให้มันเป็นปลาที่หาดูในธรรมชาติได้ไม่ง่ายนัก

ผมเคยพบปลาชนิดนี้เพียงครั้งเดียวที่เกาะมาบูล ทางฝั่งซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน

ในระหว่างที่ไปเฝ้ารอถ่ายปลาแมนดารินในช่วงพลบค่ำในบริเวณแนวปะการังน้ำตื้นเพียง 4-5 เมตร ในบริเวณข้างเกาะมาบูล

ผมเห็นปลาตัวจิ๋วนี้ ที่ผมเฝ้าหามาหลายปีตัวนี้ค่อยๆคลานออกมาจากใต้หิน โดยใช้ครีบอกที่ใหญ่โตของมันที่แผ่กว้างออกขยับไปเป็นจังหวะ ในขณะที่ครีบหลังของมันกางออกสูง

ผมบันทึกภาพนี้โดยใช้เลนส์มาโคร 70-180 ของ Nikon กับกล้อง Nikon D70 กล้องดิจิตอลยุคเริ่มต้นเมื่อสมัย 20 ปีก่อน

21/05/2024

ผมเพิ่งกลับมาจากมัลดีฟส์มาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง หลังจากที่ได้รับเชิญจากพี่แคท@Pipat cat kosumlaksamee และ Scubazoom ให้ร่วมเดินทางไปดำน้ำสัปดาห์หนึ่งบนเรือ Arc noble บนเส้นทาง Standard route ของมัลดีฟส์ซึ่งเป็น Route ที่เรียกได้ว่าเป็น Route Classic ดั้งเดิมสำหรับเรือ Safari หรือ เรือให้บริการดำน้ำแบบ Liveboard ของมัลดีฟส์

เรือ Safari ของมัลดีฟส์ นั้นจะแตกต่างจากเรือให้บริการ Liveaboard ของที่อื่นๆในโลกก็คือ อุปกรณ์ดำน้ำและเครื่องอัดอากาศนั้นจะติดตั้งอยู่บนเรือ Dhoni หรือเรือขนาดเล็กที่ใช้สำหรับการดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรือ Day trip หรือ Liveaboard นั้นก็จะใช้เรือคล้ายๆกันในการดำน้ำ แต่สำหรับเรือ Liveaboard นั้นจะมีเรือ Dhoni อีกลำวิ่งตามไป เวลาที่เราจะลงดำน้ำเราก็จะต้องลงจากเรือใหญ่มาขึ้น Dhoni ไปดำน้ำ บนเรือ Safari หรือ Liveaboad ของมัลดีฟส์นั้นก็จะมีพื้นที่บนเรือที่ค่อนข้างกว้างขวางใหญ่โตเพราะว่าไม่ต้องมี Dive deck และไม่มีเครื่อง compressor อัดอากาศ

ผมดำน้ำที่มัลดีฟส์มาหลายสิบปีได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นบนประเทศเล็กๆที่เป็นหมู่เกาะกลางมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมมีโอกาสเดินทางไปดำน้ำที่มัลดีฟส์ในปี 1997

จากคำพูดแรกๆที่ติดปากว่า สิ่งก่อสร้างที่มัลดีฟส์จะสูงไม่เกินต้นมะพร้าว และมาเล เมืองหลวงของมัลดีฟส์นั้นมีขนาดเล็กที่เดินเพียงแค่ครึ่งวันก็เดินรอบ และแทบจะไม่มีรถบนท้องถนน

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ มัลดีฟส์นับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและโครงสร้างหลายๆอย่างของประเทศไปมากที่สุดแห่งหนึ่ง

จากเกาะสนามบินเล็กๆ ที่มีแค่ลานบิน และเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงก็ต้องลงเรือต่อไปยังเกาะต่างๆ

ทุกวันนี้ เกาะ Hulhumale กลายเป็นเกาะใหญ่จากการถมทะเลเพื่อสร้างเมืองคล้ายๆกับสิงคโปร์ มีสะพานเชื่อมเกาะระหว่าง Male เกาะเมืองหลวงกับ Hulhumale มีถนนหนทาง และมีตึกสูง มากมาย

ในขณะที่เกาะ Local ที่เป็นชุมชนดั้งเดิมก็เริ่มมี Guest house และ Homestay เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือไปจากรีสอร์ทหรูบนเกาะส่วนตัวที่ได้รับสัมปะทานจากรัฐบาลมัลดีฟส์ให้เช่าพื้นที่ระยะยาว

สำหรับนักดำน้ำการเลือกเดินทางไปดำน้ำโดยใช้เรือ Safari หรือ Liveboard ก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะสามารถที่จะเพิ่ม Area หรือ พื้นที่ในการดำน้ำได้กว้างขวางและสะดวกสบายมากขึ้น เพราะเรือจะล่องไปตามจุดต่างๆ ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน บนเส้นทางต่างๆ ที่หลากหลาย ตามแต่ช่วงเวลา และ Route ที่เราเลือก

สำหรับ Standard Route นี้ก็จะเริ่มต้นจาก North Male atoll ข้ามไปยัง Ari atoll ซึ่งเป็น Highlight ของการมาดำน้ำที่มัลดีฟส์มาเนิ่นนาน ก่อนจะวนลงไปทางด้านใต้ และย้อนกลับมาที่ South Male Atoll ก่อนจะกลับมาที่ North Male Atoll อีกครั้งเป็นวงกลม

แม้ว่าหลายๆคนอาจจะบอกว่าถ้าอยากเห็นฉลามเยอะๆทุกวันนี้ไม่ต้องไปไหนไกล แค่ลงไปดำน้ำในบริเวณใกล้ๆกับเมือง Hulhumale ในจุดดำน้ำที่เรียกกันว่า Shark Tank ก็มีโอกาสได้เห็นฉลามหลากหลายสายพันธุ์แล้ว

แต่สำหรับผมนั้นการไปดำน้ำกับเรือ Safari บนทริป Standard route ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางดำน้ำที่ Classic ที่สุดของมัลดีฟส์นี้ก็ให้ประสบการณ์ที่หลายหลาก และได้เห็นมัลดีฟส์ อย่างที่เป็นมัลดีฟส์จริงๆ
กับจุดดำน้ำที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ความงดงามของ Reef หลายๆแห่งในบริเวณที่เป็นกองหินกลางน้ำหรือ Thila หลายๆแห่งที่ปกคลุมไปด้วยกัลปังหารูปพัด หรือ ปะการังอ่อนหลากสีสัน และฝูงปลานานาพันธุ์ หรือว่าการไปเฝ้ารอฝูงฉลาม Grey reef shark ในบริเวณปาก Channel ที่น้ำจะไหลเข้าออกจากอะโทล ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของกระแสน้ำ หรือ ลงไปดำน้ำตอนกลางคืนกับฝูงกระเบนราหูที่จะเข้ามากินแพลงก์ตอนจากไฟในบริเวณท้ายเรือ แม้กระทั่งการลงไปว่ายน้ำกับฝูงโลมา เป็นประสบการณ์ที่สุดพิเศษ สำหรับการเดินทางมาดำน้ำที่มัลดีฟส์ ในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่น่าประทับใจ

14/05/2024

หนังสือ the 8th continent เปิดโอกาสให้ทุกท่านที่ต้องการอนุเคราะห์และสนับสนุน มอบหนังสือให้กับห้องสมุดและโรงเรียนต่างๆ ที่ท่านต้องการ เพื่อให้น้องๆได้รับความรู้และความสวยงามจากท้องทะเล มหาสมุทร …..
ท่านสามารถสั่งซื้อและส่งมอบให้ห้องสมุดหรือโรงเรียนต่างๆได้ในราคาพิเศษ 1,200 บาท (รวมค่าจัดส่ง EMS แล้ว) โดยแจ้งความประสงค์ได้ที่บู้ท C74 ในงาน Tdex ระหว่างวันที่ 16-19 พค นี้ เวลา 11:00-20:00 น. Hall 5-6 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมทั้งแจ้งชื่อที่อยู่พร้อมเบอร์โทรของโรงเรียนหรือห้องสมุดที่ต้องการส่งมอบ
หรือสามารถแจ้งความประสงค์ที่ https://www.facebook.com/DeepSixPhotography

และโอนเงินเข้าบัญชีร่วม ชื่อนายภานุพงศ์ นรเศรษฐกมล และนายพิพัฒน์ โกสุมลักษมี ธนาคารกรุงศรี สาขามาบุญครองเซ็นเตอร์ ประเภทบัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 724-1-09614-3
หรือ
บัญชีร่วม ศิริชัย อรุณรักษ์ติชัยและนัท สุมนเตมีย์ 124-2-24632-8
และสำหรับท่านที่ต้องการซื้อหนังสือ สามารถซื้อได้ที่บู้ท C74 ในงาน Tdex ในราคาพิเศษเล่มละ 2,000 บาทเท่านั้น
ไปพบ ไปคุยกันได้นะครับที่บูท

13/05/2024

Portrait of Ray Maldives 2024 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ผมถ่ายภาพน้อยลงมาก และใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดำน้ำหันไปบันทึกภาพเคลื่อนไหวเสียมากกว่า

ผมไม่แน่ใจว่าอาจจะเรียกได้ว่าถึงจุดอิ่มตัว หรือว่าเบื่อในมุมมองของตัวเองที่ถ่ายมาก็คล้ายๆเดิม และใครๆที่ไปดำน้ำก็ถ่ายกันมาคล้ายๆกัน กับ Subject เดิมๆของโลกใต้น้ำที่วนเวียนไปมา หรือไม่ก็เบื่อการขิง และดราม่าของวงการช่างภาพที่นับวัน ชักจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การถ่ายภาพนั้นไม่สนุกเหมือนเมื่อ 20-30 ปีก่อนในสมัยที่ผมถ่ายภาพใหม่ๆ

ในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ผมอยู่บนเรือที่มัลดีฟส์นั้นผมใช้เวลากับการถ่ายภาพไปแค่สองไดฟ์เพียงเท่านั้น ก็คือในวันสุดท้ายของการดำน้ำ ที่ผมติดเอาไฟแฟลชลงไป แทนที่จะใช้ไฟวิดีโอ

ผมบันทึกภาพทางด้านล่างของปลากระเบนตัวนี้จากทางด้านล่างในขณะที่มันว่ายผ่านตัวผมไป โดยที่ผมยื่นกล้องออกไป และมองภาพผ่านจอ Monitor Weefine ตัวเล็กขนาด 5 นิ้ว ที่ผมต่อแยกออกมาจากตัวกล้องผ่านสาย HDMI ใน Housing เพื่อถ่ายวิดีโอ ที่ผมขี้เกียจถอดออก และผมพบว่ามันช่วยในการถ่ายภาพจากมุมต่ำ หรือในมุมมองระนาบใกล้กับพื้นได้ดีมาก เพราะเราไม่ต้องมุดตัวลงไป เอา Housing กล้องมาแนบกับตาเพื่อถ่ายภาพ แม้ว่าการทำงานผ่านสาย HDMI นั้นจะมี Lag หรือช้าลงนิดหน่อย แต่ก็ถือว่าหยวนๆไป แลกเปลี่ยนกับมุมมองที่ในบางครั้งเราไม่สามารถขุดทรายลงไปแทรกตัวถ่ายภาพในมุมต่ำได้

23/04/2024

ฉลามวาฬ นอกกองหินริเชลิว ในราวปี พ.ศ. 2538 ภาพนี้เป็นภาพฉลามวาฬภาพแรกๆในชีวิตของผมที่บันทึกมาจากกล้อง Nikonos V
กับเลนส์ 15 มิลลิเมตร โดยใช้ฟิล์ม Fuji Provia 100 หรือ RDP ที่เป็นฟิล์มสไลด์สี

ย้อนหลังไปในยุค 90 การถ่ายภาพใต้น้ำเป็นเรื่องที่ใช้เวลาในการเรียนรู้และฝึกฝน รวมไปถึงมี Learning curve ที่ยาวนานกว่าในยุคปัจจุบันนี้มาก

ทั้งในเรื่องข้อจำกัดของฟิล์ม ที่มีเพียง 36 ภาพในกล้องที่เราเปลี่ยนฟิล์มใต้น้ำไม่ได้ และ Pre visualize ว่าภาพที่เราถ่ายนั้นควรจะออกมาเป็นยังไง โดยที่เราจะไม่เห็นภาพที่เราถ่ายไปทั้งก่อนและหลังจากที่เราบันทึกภาพไปแล้ว เพราะว่ากล้องถ่ายภาพนั้นไม่มีจอแสดงผลเหมือนกับกล้องดิจิตอลในยุคนี้ ภาพในฟิล์มนั้นจะปรากฏให้เราเห็นก็ต่อเมื่อเรากลับมาถึงบ้านและส่งฟิล์มกลับไปล้างที่ร้านและรอให้ฟิล์มส่งกลับมาซึ่งบางทีก็นานนับสัปดาห์ หลังจากที่เรากดชัตเตอร์ไปแล้ว

นอกไปจากนั้นกล้องที่เราใช้คือ Nikonos V นั้นก็เป็นกล้องที่ไม่มีระบบโฟกัสอันทันสมัยเหมือนในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเป็นกล้อง Viewfinder ที่ไม่มีแม้กระทั่ง Rangefinder ที่ช่วยในการกะระยะ เราจะต้องกะระยะโฟกัสของวัตถุที่เราจะถ่ายด้วยการเหลือบดูว่าวัตถุที่เราต้องการจะบันทึกภาพนั้นอยู่ห่างจากเราแค่ไหนแล้วมาตั้งระยะที่ตัวเลนส์เองว่าอยู่ห่างไปกี่ฟุตหรือกี่เมตร

ในขณะที่ช่องมองภาพของ Nikonos V นั้นเราจะมองภาพใน Viewfinder ที่ต่อแยกออกมาจากตัวกล้อง ที่เป็นแค่เฟรมไว้เพื่อเฟรมภาพเฉยๆ

การวัดแสงเราก็จะต้องกะระยะไฟแฟลชด้วยตนเอง เพื่อเปิดเงาทางด้านหน้าและ Balance กับแสงจากดวงอาทิตย์ทางด้านหลัง โดยที่ให้สิ่งที่เราต้องการจะถ่ายสว่างพอดีสมดุลกับฉากหลังที่ไม่มืดหรือสว่างเกินไป

เราต้องคิดและทำทุกสิ่งนี้รวมกันทุกอย่างในช่วงเวลาที่เรากำลังว่ายน้ำถอยหลังเพื่อรอจังหวะที่ฉลามวาฬว่ายน้ำเข้ามาหาแล้วก็กดชัตเตอร์

ในยุค 90 นั้นในเมืองไทยนั้นมีคนที่ถ่ายภาพใต้น้ำเพียงหยิบมือ และส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวต่างชาติ มีช่างภาพใต้น้ำคนไทยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

ในภาพคนที่ถือกล้องวิดีโออยู่นั้นคือ Suzanne forman ช่างภาพวิดีโอฝีมือดี ภรรยาของ Mark Strickland ช่างภาพชาวอเมริกันที่มาทำงานบนเรือ M.V. Fantasea ที่ภูเก็ตเมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อน

Housing กล้องวิดีโอที่ Suzanne ถืออยู่เป็น Housing gates ที่ใส่กับกล้อง VDO sony Hi-8 ซึ่งเป็นกล้องวิดีโอที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นที่ใช้กับเทป Hi-8 ที่ปัจจุบันไม่มีใครใช้กันแล้ว

สิ่งที่ทรงคุณค่าอย่างหนึ่งของภาพถ่าย มันไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่มันคือ Moment และประสบการณ์ ณ เวลานั้นที่เรากดชัตเตอร์เพื่อบันทึกภาพลงไป

สิ่งที่เราบันทึกไว้มันคือช่วงเวลานั้น ที่ภาพนั้นถูกบันทึกลงไปบนวัสดุไวแสงไม่ว่าจะเป็นฟิล์ม หรือ Sensor รับภาพของกล้องดิจิตอลที่จะแปลงสัญญาณดิจิตอลไปบันทึกบนการ์ดก็ตาม

เราได้หยุดเวลา ณ ขณะนั้นไว้ในขณะที่เวลาในชีวิตจริงของเราก็เคลื่อนผ่านไป

สิ่งที่เราถ่ายทอดออกมานั้นมันคือความจริงที่ปรากฏขึ้นเบื้องหน้าของเรา ที่เราไปอยู่ตรงนั้น สัมผัสกับมัน แล้วถ่ายทอดออกมา เราไม่ได้สร้างภาพนั้นขึ้นมาแต่เราทำหน้าที่แค่บันทึกสิ่งที่มันเกิดขึ้นออกมา ผ่านมุมมอง และสายตาของเราเพียงเท่านั้น

ตลอดเวลายาวนานกว่า 30 ปี ผมเป็นช่างภาพตลอดมา ไม่ว่าอุปกรณ์ที่เราใช้ในมือจะเปลี่ยนไปจากกล้องฟิล์ม มาเป็นกล้องดิจิตอล จากกล้อง Viewfinder มาเป็นกล้อง DSLR หรือ MLR จากภาพนิ่งมาเป็นภาพที่เคลื่อนไหว

หัวใจอย่างหนึ่งที่ผมยึดถือมาเสมอก็คือ เราให้คุณค่ากับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตรงนั้น ในเวลานั้น

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเคลื่อนผ่านมาถึงยุคท่ีเราสามารถที่จะสร้างภาพจากจินตนาการด้วยปัญญาประดิษฐ์ออกมาให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงได้ทุกวันนี้ อาจจะเป็นเรื่องยากในการพิสูจน์ถึงคุณค่าในงานของภาพถ่ายว่าแตกต่างจากงาน Ai อย่างไร และนับวันเส้นแบ่งนี้ก็จะเลือนลางไปทุกที

หลายๆคนบอกว่าถ้าไม่เริ่มต้นวันนี้กับ Ai คุณจะเป็นคนตกยุคสมัยที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

แต่ผมกลับคิดแตกต่างไปสำหรับงานของผม

ผมเองเป็นคนที่จะเลือกว่าผมจะไม่ก้าวข้ามเส้นนั้นไป

คุณค่าในงานของผมไม่ใช่เพียงแค่ภาพที่สวยงามที่ปราศจากความจริงหรือแม้แต่ข้อเท็จจริง แต่มันคือบันทึกเรื่องราวจากประสบการณ์ที่ผมสัมผัสมาด้วยตนเอง จากเวลา และการเดินทางที่ผ่านมาทั้งชีวิต

เพราะงานของผมคือช่างภาพ

ผมเป็นช่างภาพเสมอมา และจะเป็นช่างภาพตลอดไป

02/04/2024

กัลปังหารูปพัด (gorgonian sea fan ) และปะการังอ่อนหลากสีสัน ในบริเวณจุดดำน้ำที่เรียกว่า East of Eden อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

บันทึกภาพในช่วงประมาณปี 1997-1998 ด้วยกล้องฟิล์ม Mamiya RZ เลนส์ Fisheye 37 มิลลิเมตร ใส่ลงใน Housing Aquatica RZ ใช้ฟิล์ม Kodak E100VS ขนาด 220 ใช้แฟลช Ikelite Substrobe 300 2 ดวง

ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ผมทำงานอยู่บนเรือ Aqua one ทำให้ไม่ต้องแบกอุปกรณ์กล้องและ Housing ที่มีน้ำหนักรวมไฟแฟลชเกือบ 15 กิโลกรัมขึ้นเครื่องบินไปๆมาๆ จึงเป็นช่วงเวลาท่ีผมได้มีโอกาสใช้กล้อง Medium format ถ่ายภาพใต้น้ำไว้มากที่สุด

ฟิล์ม 120 ปกติที่มีขายในบ้านเรานั้นจะใช้บันทึกภาพขนาด 6x7 ได้เพียง 10 ภาพเท่านั้น ผมจึงต้องหาซื้อ Magazine ฟิล์มขนาด 220 ที่ใส่ฟิล์ม220 (ที่ยาวเท่ากับฟิล์ม 120 จำนวน 2 ม้วน ที่ไม่มีขายในบ้านเรามาใช้งาน ในช่วงเวลานั้นถ้าใครเดินทางไปต่างประเทศก็จะโดนผมฝากซื้อฟิล์ม 220 มาให้ และผมก็ใส่ตู้เย็นเอาไว้ใช้งานเป็นปีๆ)

การถ่ายภาพใต้น้ำด้วยกล้อง Medium format ในยุคสมัยฟิล์มนั้นก็มีข้อจำกัดหลายๆด้าน การวัดแสง Ambient ก็จะต้องใช้การกะเอาด้วยสายตา หรือไม่ก็ใช้เครื่องวัดแสงใต้น้ำแยกออกไป การคำนวนไฟแฟลชก็กะเอาด้วยระยะที่คุ้นชิน สิ่งที่เป็นข้อจำกัดอีกอย่างของ Housing Mamiya RZ ตัวนี้ก็คือ มันไม่มี ช่องให้มอง Frame counter เวลาถ่ายภาพไปเราจะต้องคอยนับด้วยว่าเราถ่ายไปกี่ภาพแล้ว เพราะว่าฟิล์มแค่ 20 ภาพ ถ่ายเพลินๆไปไม่กี่เฟรมก็หมดแล้ว

ในยุคสมัยที่เราใช้กล้องดิจิตอลกันทุกวันนี้ ภาพแนวปะการังแบบนี้ เป็นภาพที่ถ่ายไม่ยาก เพราะว่าเราดูภาพจากจอและจัดแสงให้เป็นแบบที่เราต้องการ จัดแสงจัดมุมได้ตามใจชอบ และดูผลได้ทันทีแถมยังไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนภาพที่ถ่ายได้อีก

ในขณะที่ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 20-30 ปีก่อน เวลาที่เราถ่ายภาพจากฟิล์มสไลด์ที่มี Lattitude ในการบันทึกแสงที่แคบกว่าฟิล์ม Negative และปรับแสงทีหลังไม่ได้ การบันทึกภาพให้ Balance ระหว่างแสง Ambient ของฉากหลังให้สมดุลกับแสงไฟแฟลชด้านหน้านั้น ก็ต้องใช้เวลาและประสบการณ์ในการเรียนรู้พอสมควร

ในยุคสมัยปัจจุบันที่ผู้คนมักจะกล่าวว่า คำว่า จบหลังกล้องเป็นเรื่องไร้สาระ...เพราะว่ากล้องดิจิตอลก็ต้องนำมา Post Process ทั้งนั้น

ผมเองเคยเป็นคนหนึ่งที่เคยใช้ชีวิตเป็นช่างภาพในยุคสมัยฟิล์ม ที่คัดภาพบางภาพที่ชอบทิ้งไปเพราะว่า ไม่สามารถที่จะแก้ไขภาพจากฟิล์มสไลด์ที่บันทึกแสงมามืดหรือสว่างเกินไปได้มากมาย

29/03/2024

การประกวดภาพ UN World Oceans Day Competition ที่จัดขึ้นโดย องค์การสหประชาชาติทุกปีเพื่อร่วมฉลองในวันทะเลโลกหรือ World Oceans Day ในวันที่ 8 กรกฏาคมของทุกปี ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11 ได้เปิดรับภาพสำหรับปีนี้แล้วโดยจะปิดรับภาพในวันที่ 7 เมษายน นี้

โดยภาพที่ได้รับรางวัลจะประกาศผลในงานวันทะเลโลกที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติในวันที่ 7 กรกฏาคม ภาพที่ได้รับรางวัลจะได้รับการจัดแสดงที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและในอีกหลายๆที่ทั่วโลก

ภาพ Freediver กับแมงกะพรุน ที่ Jellyfishlake ที่เกาะ Palau ของผมได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ในประเภท Underwater Seascapes ในปี 2022 ซึ่งเป็นปีที่ช่างภาพชาวไทยได้รับรางวัลใหญ่หลายรางวัล

รายละเอียดเพิ่มเติมของการส่งภาพประกวดสามารถดูได้ที่

https://www.divephotoguide.com/world-oceans-day-photo-competition/?fbclid=IwAR1L1fGFGz0iphAntkUepZiUH6YknQIyw5OU6RISr0deudySrv7OtAoijc8_aem_AfcwwvqNL2myAnOOnl9n70da9qT_ZE0vYJh4hdIFZO0fEPeYbQr4ltG-m4cSwow5SJ17MR_MjDaZQi3nNO7IXFaN

18/03/2024

ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellowfin Tuna :Thunnus albacares) เมื่อโตเต็มวัยครีบหลังจะมีขนาดใหญ่และมีสีเหลืองงดงาม

ปลาทูน่าครีบเหลืองเมื่อมีขนาดโตเต็มที่จะมีน้ำหนักมากกว่า 180 กิโลกรัม เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของโลก ที่ยังคงมีจำนวนคงเหลืออยู่มากพอสมควร ในแทบทุกน่านน้ำเขตร้อนและเขตอบอุ่นในมหาสมุทรทั่วโลกต่างจากทูน่าครีบน้ำเงิน หรือ Northern Bluefin Tuna (Thunnus thynnus) และ Southern Bluefin Tuna (Thunnus maccoyii) ที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีอายุยืนยาวกว่าที่ในปัจจุบันนั้นอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์จาก สถานะของ IUCN red list แล้ว

ผมบันทึกภาพนี้จากในบริเวณเกาะ Guadalupe นอกชายฝั่งประเทศเม็กซิโก เมื่อปี 2015

14/03/2024

ฉลามหัวค้อน Great Hammerhead shark (Sphyrna mokarran) เป็นฉลามหัวค้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อโตเต็มที่อาจจะมีความยาวของลำตัวถึง 6 เมตร

ในอดีตเราสามารถพบเห็นฉลามหัวค้อนได้ในท้องทะเลไทยเสมอๆ แต่ตั้งแต่ที่ผมดำน้ำมาแทบจะไม่เคยได้ยินรายงานมาจากนักดำน้ำเลยว่ามีคนพบฉลามหัวค้อนในทะเลไทย แม้กระทั่งรายงานจากกลุ่มนักตกปลาในเมืองไทยเองก็มีการพบเห็นฉลามหัวค้อนน้อยมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

ผมเห็นฉลามหัวค้อนครั้งแรกในชีวิตตอนที่ยังเป็นเด็กอายุไม่ถึงสิบขวบ เมื่อราวๆสี่สิบปีก่อน ตอนนั้นผมไปเที่ยวพัทยากับคุณพ่อ แล้วมีเพื่อนพ่อบอกว่ามีฝรั่งตกฉลามหัวค้อนตัวใหญ่มากได้จากแถวเกาะครามมาขึ้นชั่งน้ำหนักที่บางเสร่ พ่อเลยขับรถจากพัทยาพาผมไปดู

ผมบันทึกภาพนี้จากจุดดำน้ำที่เรียกว่า Tiger beach ในประเทศบาฮามาส เมื่อปี 2020

11/03/2024

หญ้าทะเล ไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่เป็นอาหารของ "น้อน"

ช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้กระแสของการอนุรักษ์ทะเลเป็นสิ่งที่กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เรื่องราวของธรรมชาตินั้นได้กลับมาเป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่ในสังคมให้ความสนใจ

แต่ในโลกยุคใหม่ที่การนำเสนอความน่ารักของชีวิตสัตว์ผ่านคลิปวิดีโอสั้นที่ทำให้ผู้คนใจฟู และพากันหลงรักในความน่ารัก น่าเอ็นดูของ "น้อน" นั้นทำให้ภาพใหญ่ของความเป็นจริงนั้นเบี่ยงเบนประเด็นไปอย่างง่ายดาย

ผมยอมรับว่าพะยูนเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในระบบนิเวศชายฝั่งและแนวหญ้าทะเล แต่ในความคิดเห็นของสังคมในตอนนี้ หลายๆคนเกิดความคิดหลากหลายมากมายไปจนหลายๆคนอยากจะไปปลูกหญ้าทะเลเพื่อให้ "น้อน" มีอาหารกิน หรือจะหาหญ้าทะเลไปป้อน "น้อน" เหมือนที่เราเอาอาหารไปป้อนสัตว์ในสวนสัตว์เปิด หรือไปให้อาหารปลาหน้าวัดเพื่อแก้ปัญหาของ "น้อน" จนเราลืมไปว่า ระบบนิเวศของหญ้าทะเลและชายฝั่งนั้นเป็นเรื่องใหญ่ กว่าที่จะเป็นเพียงแค่อาหารของพะยูนหรือว่าเต่าทะเลเท่านั้น

พะยูน นั้นถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของระบบนิเวศของหญ้าทะเลและชายฝั่งมานาน เช่นเดียวกับที่เสือ และนกเงือกถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของระบบนิเวศของป่า

ถ้าจะเปรียบเทียบให้ชัด เสือและพะยูน นั้นต่างทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ของผืนป่าและระบบนิเวศชายฝั่งมาเนิ่นนาน

ในขณะที่สังคมส่วนใหญ่ตั้งคำถามและเป็นห่วงกับความเป็นอยู่ของอินฟลูเอนเซอร์ ในขณะที่ลืมมองไปถึงภาพใหญ่ที่สำคัญไปกว่านั้น

ถ้าหากแนวหญ้าทะเลและระบบนิเวศชายฝั่งล่มสลายลงไป จะส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศอื่นๆที่สืบเนื่องและเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่มากมาย ทั้งปลาที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง สัตว์น้ำวัยอ่อนพวกกุ้งและปู ที่ใช้พื้นที่เป็นแหล่งอนุบาลของชีวิตในการขยายพันธุ์ ที่จะส่งผลกระทบต่อไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน ทั้งหลายที่ทำมาหากินอยู่กับท้องทะเล และรวมไปถึงสัตว์บางชนิดที่อาจจะมีหน้าตารูปร่างท่ีไม่น่ารัก แต่เป็นประโยชน์และสำคัญต่อระบบนิเวศนานาชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

และแน่นอนที่สุด พะยูน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของระบบนิเวศนั้นเองก็อยู่ไม่ได้ มนุษย์เองก็อยู่ไม่ได้

บางทีเราอาจจะต้องกลับมุมคิดเล็กน้อยเพื่อที่จะให้เห็นภาพที่สะท้อนความเป็นจริงที่ชัดเจนขึ้น

ผมบันทึกภาพเต่าทะเลนี้ในขณะกินหญ้าทะเลอยู่ในแนวน้ำตื้นของหมู่เกาะสุรินทร์เมื่อหลายปีก่อน

09/03/2024

การสื่อสารเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่พยายามที่จะใช้อารมณ์หรือความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ เข้าไปเร่งเร้าให้ไปสู่จุดมุ่งหมายที่เราต้องการสื่อโดยปราศจากข้อเท็จจริงจนอาจจะทำให้เรื่องราวที่เราต้องการสื่อสารนั้นเบี่ยงประเด็นไปจากความเป็นจริงไปแม้ว่าเราจะปรารถนาดีอย่างไรก็ตาม

ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจน ว่ามันจะเป็นอย่างไร ถ้าเราเอาแต่ความรู้สึกมาจับ เพื่อเร่งเร้าอารมณ์โดยที่ไม่คำนึงถึงความเป็นจริง

ฉลามขาวยักษ์ Great white shark ( Carcharodon carcharias) ตัวนี้ยิ้มให้ผมในขณะที่กำลังบันทึกภาพ ในขณะที่ผู้คนเฝ้ามองฉลามด้วยความหวาดกลัว แต่ในความเป็นจริงแล้วฉลามนั้นเป็นมิตรกับเรามากกว่าที่คิด บลา บลา บลา ....

ในความเป็นจริง เมื่อมองจากมุมภาพในมุมนี้ ฉลามขาวทุกตัวก็ดูหน้ายิ้มไปหมด ทั้งๆที่ไม่ได้ต้องการจะยิ้ม

โลมาก็เช่นกัน ที่มันดูหน้ายิ้ม เพราะว่าหน้าของมันเป็นอย่างนั้นเอง มันไม่ได้ยิ้มเสมอไป แม้ว่าโลมาจะเป็นสัตว์ที่ขี้เล่น ชอบสนุก และชอบแกล้งกัน แต่มันไม่ได้ยิ้มเสมอไป

ไม่ว่าโลมาจะเศร้า จะทุกข์โศกยังไง โลมาก็มีหน้าแบบเดียว มันไม่สามารถทำหน้าเฉยๆแบบมนุษย์ได้

ผมยังเชื่อเสมอว่าสัตว์ป่าในธรรมชาตินั้นมีชีวิตเสรี ที่เป็นอิสระ และไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็น "น้อน" ของใคร

16/02/2024

Thresher shark ในขณะที่ว่ายเข้ามาในบริเวณแนวปะการังเพื่อให้ปลาตัวเล็กๆอย่าง ปลาพยาบาล Cleaning wrasse และ ปลาเขียวพระอินทร์ Moon wrasse ทำความสะอาดร่างกายในบริเวณ Kimud shoal ใกล้กับเกาะ Malapascua ในประเทศฟิลิปปินส์

Thresher shark เป็นฉลามที่ปกติอาศัยอยู่ในน้ำที่ค่อนข้างลึก แม้กระทั่งในทะเลอันดามันก็เคยมีนักตกปลาตกได้จากในความลึกนับร้อยเมตรเป็นปกติ มีเพียงไม่กี่ที่บนโลกที่เราจะพบเห็นฉลามชนิดนี้เข้ามาในแนวน้ำตื้นเพียงไม่กี่เมตรเพื่อทำความสะอาดร่างกาย

ประสบการณ์ในการดำน้ำกับฉลามหางยาวนี้ เป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ ยิ่งในช่วงเวลาที่เราเฝ้ารออยู่เพียงลำพังแล้วฉลามหางยาวนั้นจะว่ายเฉียดเข้ามาวนเวียนรอบตัวเราในระยะที่แทบจะเอื้อมมือถึงได้ ดวงตากลมโตของมันจะจ้องมองเราด้วยความสงสัย แต่ถ้าไม่รู้สึกคุกคามใดใด มันก็จะว่ายวนอยู่แบบนั้นรอบๆตัวเราเพื่อให้ปลาพยาบาลทำความสะอาดร่างกายไปเรื่อยๆ

บางครั้งการดำน้ำของผม ก็กลับไปที่เดิมๆ ซ้ำๆกัน เราเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไป เพียงเพื่ออยากจะสัมผัสช่วงเวลาที่แสนจะพิเศษนี้อีกสักครั้งแค่นั้นเอง

ปีนี้ถ้ามีโอกาส ผมก็อยากจะกลับไปสบตากับ Thresher shark อีกสักครั้ง...

13/02/2024

แสงสุดท้ายของวัน กับฝูงฉลามเลมอน ในบริเวณด้านท้ายเรือ ที่ Tiger beach บาฮามาส

ผมบันทึกภาพนี้โดยใช้กล้องติดลงใน Housing แล้วประกอบด้ามไม้กวาดทำเป็น Pole cam ที่ใช้ยื่นลงไปทางด้านท้ายเรือ

ใช้สายลั่น Shutter แบบรีโมท ที่ออกแบบเป็นพิเศษติดเข้าไปกับ Bulkhead ที่ตัว Housing แล้วแปลงสายไปต่อกับสายรีโมทในตัวกล้อง

ใช้เลนส์ฟิชอาย 15 มิลลิเมตร ถ่ายภาพโดยไม่ได้มองภาพในจอหรือว่า Viewfinder แต่กะระยะเอาโดยเดาๆจากมุมที่มองอยู่ทางด้านบน ในขณะที่ยืนทรงตัวอยู่ในบริเวณทางด้านท้ายเรือ

ใช้ไฟแฟลชเพื่อเปิดเงาให้เห็นรายละเอียดของฉลามทางด้านหน้า และแสงของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะตกลับหายไปในน้ำเป็นฉากหลัง

เป็นภาพหนึ่งในไม่กี่ภาพที่ตรงกับภาพที่เห็นในหัวตอนก่อนจะถ่ายภาพ จากภาพนับร้อยที่ผมบันทึกภาพมาในวันนั้น

09/02/2024

Leafy sea dragon Southern Australia 2012

สวัสดีปีมังกร ...

Leafy sea dragon เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์เดียวกับม้าน้ำ เป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบเฉพาะในบริเวณตอนใต้ของทวีปออสเตรเลีย เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 40 เซนติเมตร ลำตัวของมันจะมีลักษณะเหมือนกับกิ่งก้านของสาหร่ายทะเลที่มันอาศัยอยู่เพื่อพรางตัวจากสัตว์ผู้ล่า

ในภาพนี้ผมบันทึกภาพมังกรทะเลจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ในบริเวณเกาะ Kangaroo ทางตอนใต้ของออสเตรเลียในปี 2012

ผมบันทึกภาพนี้โดยที่ยื่นกล้องไปด้านหน้าแล้วเอากล้องแนบลงไปกับพื้น หงายกล้องขึ้นไปที่ท้องฟ้า โดยที่ไม่ได้ยกกล้องขึ้นมองเฟรม เพราะว่า มังกรทะเลนั้นจะลอยตัวอยู่ไม่ห่างจากพื้นที่มันอาศัยอยู่

06/02/2024

ฝูงปลาล่าเหยื่อหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นปลากะมงพร้าวหรือ Giant trevalley ปลาเหลืองโพรง หรือ Rainbow runner ปลาตะคองเหลือง หรือ Golden trevalley และปลาหัวเสี้ยม หรือ Longnose Emperor ที่มารวมตัวกันเพื่อล่าเหยื่อนับร้อยตัว ที่กองหินริเชลิว เมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในช่วงที่กองหินริเชลิวปกคลุมไปด้วยฝูงลูกปลาเหยื่อจำนวนมากที่ปกคลุมกองหินจนมองแทบไม่เห็นยอดหิน

ผ่านมาในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ ผมพบว่าฝูงปลากลางน้ำที่ไล่ล่าเหยื่ออยู่รอบกองหินมีจำนวนน้อยลงมาก และเริ่มกระจัดกระจายออก ในขณะที่ฝูงปลาเหยื่อก็เริ่มลดจำนวนลง

ฝูงปลาหน้าดินอย่างปลากระพงแดงท่ีมารวมตัวนับร้อยในหลายๆจุดดำน้ำก็เริ่มกระจายตัวออกเป็นกลุ่มเล็กๆและในบางท่ีก็เริ่มลดจำนวนลงไปจากเดิมที่เห็นเป็นปกติ

ปลากระเบนขนาดใหญ่อย่าง Marble ray และ Jenkin's whipray ที่พบเป็นปกติที่เกาะบอนก็เรื่มพบเห็นน้อยลง ในขณะที่ยังมีคนรายงานพบเจอปลาโรนันอยู่บ้างประปราย

อุณหภูมิน้ำก็เริ่มกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ ตรงตามการคาดการณ์ของ Australian Government Bureau of Meteorology ที่คาดว่าปรากฏการณ์ IOD นี้จะอ่อนลงในช่วงระหว่างปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

31/01/2024

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในท้องทะเลอันดามันเต็มไปด้วยแมงกะพรุน หลากหลายชนิดและสีสันรูปทรง ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าแมงกะพรุนเหล่านี้มาจากไหนและอะไรที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Jellyfish Bloom อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของกระแสน้ำหรือทิศทางลม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือว่าปริมาณของสารอาหารบางอย่าง หรือระดับปริมาณของออกซิเจน หรือว่าอาจจะหลายๆเหตุปัจจัยที่สอดคล้องกันส่งให้เกิดภาวะนี้ขึ้นมา

ตลอดระยะเวลาสี่วันจากหมู่เกาะสิมิลันขึ้นไปถึงกองหินริเชลิว ไม่มีไดฟ์ไหนที่เราจะไม่เจอแมงกะพรุนมากมายมหาศาลเต็มท้องทะเล จนทำให้ผมนึกอยากกินเย็นตาโฟกับแมงกะพรุนคลุกน้ำมันงาขึ้นมาทันที

แม้ว่าแมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้บ้าง แต่การเดินทางของมันในท้องทะเลส่วนใหญ่ก็เดินทางไปตามกระแสน้ำ และในบางพื้นที่ที่เป็นเวิ้งอ่าวที่ไม่มีกระแสน้ำเราก็มักจะพบแมงกะพรุนจำนวนมากที่มาอยู่รวมกันในบริเวณใกล้ผิวน้ำ

แม้ว่าแมงกะพรุนนั้นจะมีเข็มพิษ และในบางโอกาสก็จับปลากินเป็นอาหาร แต่อาหารหลักๆของพวกมันนั้นไม่ใช่ปลาแต่อย่างใด ส่วนใหญ่พวกมันจะจับกินแพลงก์ตอนจิ๋วๆที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำเป็นอาหาร

ในขณะที่ตัวของมันเองที่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ กลับกลายเป็นที่ซ่อนที่หลบภัยอย่างดีของลูกปลาตัวเล็กๆที่ยังอยู่ใน Plankton stage ที่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ เพื้อหลบภัยจากปลานักล่าขนาดใหญ่ที่มักจะวนเวียนเข้ามาล่าเหยื่อจำพวกลูกปลาตัวเล็กๆที่มาหลบภัยอยู่ใต้หมวกของแมงกะพรุน

ขอขอบคุณเรือ Aruna Voyager เรือให้บริการดำน้ำที่สมบูรณ์แบบที่สุดลำหนึ่งในทะเลอันดามัน สำหรับการเดินทางออกไปทำสารคดี และบันทึกภาพในครั้งนี้

ต้องการให้ธุรกิจของคุณ ธุรกิจ ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง บริการถ่ายภาพ ใน Bangkok?
คลิกที่นี่เพื่อเป็นสมาชิก?

วิดีโอทั้งหมด (แสดงผลทั้งหมด)

Butterfly ray
World ocean day 2024
Maldives scuba zoom
sea turtle
Thresher shark
Jellyfish sea
The 8th continent show reel
Aruna Voyager อันดามันเหนือ 2024
Aruna Voyager อันดามันเหนือ 2024
Aruna Voyager อันดามันเหนือ 2024
Aruna Voyager อันดามันเหนือ 2024
อันดามันเหนือกับเรือ Amita Liveaboard

ประเภท

เว็บไซต์

ที่อยู่

Bangkok
10210

ช่างภาพ อื่นๆใน Bangkok (แสดงผลทั้งหมด)
RushFromAbove Photography RushFromAbove Photography
Bangkok

Portraits, Events, Outdoor Photography

Studiogala Studiogala
Bangkok, 10230

บริการดุจญาติมิตร แต่คิดตังค์ 062-949-9162

Teamy graphy Teamy graphy
16/24 Soi 17 Vipawadee Rangsit 35 Road
Bangkok, 10210

Teamy Graphy รับบันทึกภาพความทรงจำ สไตล์ที?

Adiplin Photography Adiplin Photography
Bangkok

รูปถ่ายจากมุมต่าง ๆ ผ่านเลนส์ของนั?

aboutfoto photography aboutfoto photography
Bangkok, 11120

Commercial photographer landscape, interior, exterior and hotels & resorts photography www.aboutfoto.com By Kiattipong Panchee ,if you like you can share. = )

Dogs' Eye Dogs' Eye
Bangkok, 10700

รับถ่ายภาพ ด้วยความตั้งใจ ติดต่อ 081-648

M achirawat photography M achirawat photography
Bangkok

สนใจถ่ายรูปทักข้อความได้เลยครับ หรือ ไอจี m_achirawat

Saiiphoto-EDU จัดไฟสตูดิโอ และ Photo editing Softwares Saiiphoto-EDU จัดไฟสตูดิโอ และ Photo editing Softwares
Cuba Studio
Bangkok, 10230

ให้ความรู้สำหรับช่างภาพที้ต้องการศึกษาการใช้งาน Capture One

Pheema Baby Pheema Baby
พระราม 6
Bangkok, 10330

zero.mmnt zero.mmnt
Bangkok

Bangkok based life photographer

Excaliburch Excaliburch
Bangkok, <>

มุมมอง ภาพถ่าย ความทรงจำ

Woramet photo Woramet photo
Bangkok

รับถ่ายภาพ