La Montagne CMU : กลุ่มนักศึกษาเฌองดอย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
La Montagne | เฌองดอย
ทะลุล้าน !
ยอดขอยืมเงินโดยนักศึกษามช.เกินเพดานงบ ฯ อย่างรวดเร็ว
หลังเปิดให้ทำเรื่องขอยืมไปไม่ถึง 3 สัปดาห์
เมื่อวานนี้ (30 พ.ย. 2023) กองพัฒนานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เปิดเผยทางเฟซบุ๊กเพจ 'กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - Student Development Division of CMU' ถึงสถานการณ์ของโครงการ "Student Fast Loan" ร้อนเงินไม่ร้อนใจ (เงินยืมด่วนสำหรับนักศึกษาแบบไม่คิดดอกเบี้ย) ว่าในขณะนี้มีนักศึกษาผู้ยื่นคำขอยืมเงินผ่านโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมากจนเต็มกรอบวงเงิน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท) ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้รับจากการสนับสนุนสำหรับโครงการนี้แล้ว
กองพัฒนานักศึกษา ฯ ได้ประกาศแก้ไขเงื่อนไขสำหรับการยืมเงินจากโครงการดังกล่าวภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันคือ "หากมีการชำระคืน(โดยผู้ยืมที่ได้รับการอนุมัติในช่วงเวลาก่อนหน้า) และมีเงินหมุนเวียนเพียงพอสำหรับการอนุมัติให้แก่รายใหม่ นักศึกษาที่ยื่นคำขอยืมเงินจะได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่โดยเร็ว (ทั้งนี้ กำหนดระยะเวลาคืนเงินภายใน 30 วัน)" จากเดิมที่มีการกำหนดกรอบว่าจะมีการอนุมัติเงินยืมภายใน 1 วัน
ข้อมูลดังกล่าวถูกเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กหลังกองพัฒนานักศึกษา ฯ เปิดให้นักศึกษามช.สามารถทำเรื่องขอยืมเงินมาแล้วเพียงราว 2 สัปดาห์เศษ (ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย. 2023) ภายใต้เงื่อนไข 6 ประการ ได้แก่
1. โครงการนี้จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาที่เดือดร้อนจำเป็นเร่งด่วน
2. ให้ยืมเงินได้ตั้งแต่ 500-3,000 บาท/ครั้ง
3. ผู้ยืมต้องคืนเงินภายใน 30 วัน (สามารถทยอยจ่ายได้)
4. ไม่มีการคิดดอกเบี้ย
5. ทำเรื่องขอยืมเงินได้ทาง CMU Mobile Application
6. อนุมัติการยืมได้และได้เงินภายใน 1 วัน
โดยข้อมูลที่ต้องใช้ในการทำเรื่องขอยืมเงินใน CMU Mobile Application นั้นประกอบไปด้วยเบอร์โทรศัพท์ จำนวนเงินที่ต้องการยืม (สามารถเลือกได้ระหว่าง 500/1,000/1,500/2,000/2,500/3,000 บาท) เหตุผลความจำเป็นเดือดร้อนเร่งด่วน ข้อมูลบัญชีธนาคารที่ใช้ในการรับเงิน รวมถึงภาพถ่ายหน้าสมุดบัญชีธนาคาร
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหลักการและที่มาของรายละเอียดโครงการดังกล่าวอย่างเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ทั้งเกณฑ์ในการเลือกอนุมัติเงินยืมสำหรับนักศึกษาที่เดือดร้อนเร่งด่วนที่ชัดเจน ที่มาของเงื่อนไขกรอบระยะเวลาในการคืนเงินและจำนวนเงินที่ให้ยืม ตลอดจนผลและแผนการศึกษาทั้งล่วงหน้าและระหว่างทดลองโครงการดังกล่าวเกี่ยวกับอุปสรรคและปริมาณความต้องการการสนับสนุนทางเศรษฐกิจของนักศึกษามช.อย่างละเอียดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง แม้จะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่นักศึกษาตั้งแต่เริ่มเปิดให้ยืมเงิน ทั้งในเชิงชื่นชม และตั้งคำถามต่อรายละเอียดโครงการและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การล่มของระบบทำเรื่องยื่นขอในวันแรกของการเปิดรับคำร้อง ความล่าช้าในการติดต่อนักศึกษาผู้ขอยืมเงินเพื่อการสัมภาษณ์ถึงรายละเอียดความจำเป็นในการยืม การไม่สามารถอนุมัติเงินยืมภายใน 1 วันตามที่ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับการยืมเงิน
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน เราอาจอนุมานได้ว่าจำนวนนักศึกษาผู้ยื่นขอยืมเงินผ่านโครงการดังกล่าวนั้นอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 333 คนอย่างแน่นอน (ตัวเลขที่ยืนยันได้จากการคำนวนด้วยวงเงินสนับสนุนโครงการจำนวน 1,000,000 บาทที่ได้รับการเผยแพร่ ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นมีความเป็นไปได้สูงที่มีจำนวนผู้ยื่นคำขอยืมเงินมากกว่าจำนวนดังกล่าว)
นักศึกษาและสาธารณชนจะจับตาดูเรื่องนี้ต่อไป
เครดิตภาพ : กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - Student Development Division of CMU
__________
#กองพัฒนานักศึกษามช.
#สวัสดิการนักศึกษา
#เฌองดอย
อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
โครงการ "Student Fast Loan" ร้อนเงิน ไม่ต้องร้อนใจ ขณะนี้มีผู้ยื่นคำขอยืมเงินเป็นจำนวนมากจนเต็มกรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับจากการสนับสนุนจำนวน 1,000,000 บาทแล้ว
https://www.facebook.com/photo/?fbid=730333222456832&set=a.620041580152664
📢Student Fast Loan (ร้อนเงิน ไม่ต้องร้อนใจ) ยืมเงินด่วน แบบไม่มีดอกเบี้ย💥💥
https://www.facebook.com/photo/?fbid=718624666961021&set=a.620041580152664
📢ขอแจ้งการปรับปรุงระบบ Student Fast Loan ชั่วคราว
https://www.facebook.com/photo/?fbid=721277453362409&set=a.620041580152664
เมื่อวานนี้ (29 พ.ย. 2566 เวลา 16.00 น.) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะฯ ได้เดินทางมายังลานสัก (บริเวณข้างลานสังคีต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) โดยปรากฎตัวร่วมกิจกรรมหารือประเด็นการพัฒนาและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้านนวัตกรรมและดิจิทัล/ Lanna Soft Power ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนักศึกษาและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงบุคคลภายนอกเข้าร่วมรับฟัง/รับชมจำนวนหนึ่ง
ในการนี้ ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมให้การต้อนรับภายในกิจกรรม และได้เชิญเศรษฐาร่วมเยี่ยมชมและพูดคุยซักถามถึงรายละเอียดเกี่ยวกับกับซุ้ม Start Up โดยนักศึกษา มช. ที่ได้รับการผลักดันจาก Builds (โปรแกรมปั้น Start up ของนักศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเปิดตัวโดยมช.อย่างเป็นทางการในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา) โดยมช.ได้เผยว่า โปรแกรมดังกล่าวเป็นไปเพื่อส่งเสริมนักศึกษาที่อยากเริ่มทำธุรกิจ ด้วยการสนับสนุนการสร้างไอเดียจากการสำรวจความต้องการ นำมาสู่การทดลองใช้จริง ต่อยอดถึงการสร้างธุรกิจที่มีลูกค้าเริ่มเข้ามาใช้ เพื่อสร้างรายได้และยังต่อยอดขยายธุรกิจได้เพิ่มอีกในอนาคต รวมถึงซุ้มโครงการ Gastronomy Tourism : LANNA Gastronomy “คิดถึงเชียงใหม่” ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาส่งเสริมอาหารของเชียงใหม่ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่จัดทำขึ้นโดยระบุวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซา จากการระบาดของ Covid-19 ในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุการณ์อันน่าวิพากษ์วิจารณ์ภายในกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เมื่อหนึ่งในนักศึกษาผู้เดินทางมาร่วมรับฟัง/รับชมกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าวถูกบุคคลปริศนาเดินติดตามอย่างใกล้ชิดภายในงาน โดยนักศึกษาคนดังกล่าวได้ให้ข้อมูลกับเราว่า ตนได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมอย่างสนใจ เนื่องจากเห็นว่านายกรัฐมนตรีได้เดินทางมายังมหาวิทยาลัยที่ตนศึกษาอยู่ แต่เมื่อเดินทางมายืนชมกิจกรรมเป็นเวลาครู่หนึ่ง เพื่อนของตนได้ทักขึ้นมาด้วยความสงสัยว่าตนกำลังถูกบุคคลปริศนาซึ่งน่าสงสัยว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐภายในพื้นที่จัดกิจกรรมดังกล่าวเดินติดตามอย่างใกล้ชิด จึงลองเดินไปมาภายในพื้นที่จัดกิจกรรม และพบว่าบุคคลดังกล่าวน่าจะมีท่าทีเดินติดตามตนอยู่จริง
นักศึกษาได้เปิดเผยกับเราว่าบุคคลดังกล่าวได้เดินเข้ามาพูดกับตนว่า "จะทำอะไร ? อย่าทำให้มช.เสียชื่อนะ" นักศึกษาจึงตอบกลับไปว่าตนไม่ได้กำลังจะทำอะไร ตนเป็นนักศึกษาและมาเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมถามบุคคลดังกล่าวว่า "นักศึกษาไม่สามารถมาร่วมฟังได้หรือ ? " และถามเพิ่มเติมไปอีกว่าเหตุใดจึงได้มาถามไถ่ตนอยู่คนเดียว ทั้งที่ภายในกิจกรรมมีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมคนอื่นอีกมากมาย ก่อนได้รับคำตอบว่า "แล้วใส่เสื้ออะไรมาล่ะ ?" นักศึกษาจึงตอบกลับไปว่า " ใส่เสื้อกันหนาวไง อากาศเย็น "
ทั้งนี้ เสื้อที่นักศึกษาคนดังกล่าวสวมใส่นั้นเป็นเสื้อแขนยาวซึ่งมีสัญลักษณ์บริเวณกลางหลังพร้อมตัวหนังสือว่า "ผู้พิทักษ์ทรราช" และ "หาแดกกับเยี่ยว เที่ยวจับคนคิดต่าง" ซึ่งนักศึกษาได้อธิบายว่าตนใส่เสื้อตัวดังกล่าวตามปกติ และไม่เคยมีปัญหาใด ๆ จากการใช้งานตลอดมา
นักศึกษายังได้ให้ข้อมูลอีกว่าตนได้พูดกับบุคคลดังกล่าวว่า " จะเดินตามทำไม ?" และได้รับคำตอบกลับมาว่า " จะเดินไปไหนก็เดินไปด้วยกันนี่แหละ " ซึ่งส่งผลให้ตนรู้สึกถูกคุกคามเป็นอย่างมาก จึงได้มีการต่อว่าบุคคลดังกล่าว โดยกล่าวว่าการตามในลักษณะดังกล่าวเป็นการคุกคามอย่างเห็นได้ชัด คนปกติที่ไหนจะมาเดินตามคนอื่นแบบนี้ จนท้ายที่สุด บุคคลดังกล่าวได้พูดกับนักศึกษาว่า "ถ้าไม่อยากให้ตาม ก็ออกไปสิ" แล้วจึงเดินตามนักศึกษาไปทั่วพื้นที่จัดกิจกรรมจนเจ้าตัวได้เดินออกมาข้างนอกบริเวณดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้เป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทางเราได้รับรายงาน หากท่านผู้อ่านพบเห็นเหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นในลักษณะสงสัยเป็นการติดตาม คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐอีก โปรดช่วยกันเป็นหูเป็นตาในฐานะประชาชน
เครดิตภาพ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
__________
#เศรษฐาทวีสิน
#เฌองดอย
อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
มช. ต้อนรับนายกและรัฐมนตรีคลัง ในโอกาสพบปะนักศึกษา ร่วมพูดคุยการสร้าง Start up จากไอเดียนักศึกษา เพื่อต่อยอดสู่ผู้ประกอบการในอนาคต พร้อมให้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจด้านนวัตกรรมและดิจิทัล Lanna Soft Power ✨✨
https://web.facebook.com/cmuofficial/posts/731474772347006
ต้อนรับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
https://www.cmu.ac.th/th/article/c89ed073-2d89-4970-a8f6-56d702596ee4?fbclid=IwAR3fDN6v9yRnDxWaGJS3vxxpqteWo7KjmlvxLv8IIjQjycxrDlKfOLF-bdk
มช. เขย่าวงการสตาร์ทอัพไทย เปิดตัว “builds” โปรแกรมปั้นสตาร์ทอัพจากนักศึกษาแบบครบวงจร ที่แรกในประเทศ พร้อมผสานความร่วมมือในการให้ความรู้ผ่าน LiVE Platfom ของตลาดหลักทรัพย์ ตั้งเป้าดันนักศึกษา 4,200 ราย สร้างธุรกิจจริงระหว่างเรียน
https://www.cmu.ac.th/th/article/b1c29c4c-272c-4376-a029-e577ee68699b
จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน
บทปาถกฐาโดย เกษียร เตชะพีระ บนเวทีรำลึก 90 วัน - นิธิ เอียวศรีวงศ์
'ครูพักลักจำคนสำคัญ'
วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย. 2023 ณ ลานหน้าโรงละคร หอศิลป์ ฯ มช.
จัดโดยกลุ่มเพื่อนนิธิ คิดถึงอาจารย์นิธิ
________
สวัสดีครับ กัลยาณมิตรของอาจารย์นิธิ
ผู้เคารพรักและคิดถึงอาจารย์ทุกท่าน
ตอนแรกที่ได้ยินข่าวว่าอาจารย์นิธิเสีย... ผมใจหาย
เพราะความรู้สึกแรกเลยคือ ต่อไปคงไม่ได้อ่านบทวิเคราะห์สถานการณ์ หรือประเด็นทางสังคม การเมือง วัฒนธรรมที่แหลมคมทุกสัปดาห์อย่างที่อาจารย์เคยเขียนมาตลอดแล้ว ไม่แน่ใจว่าต่อไปเราจะไปหางานที่แหลมคมแบบนี้ได้จากที่ไหน
แต่พอผ่านไปสักช่วงเวลานึง ใจหายมึน ๆ ไปสักสองสามเดือน พูดยากเหมือนกัน ไม่รู้ว่ารู้สึกยังไง... ผมคุยกับเพื่อนที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ (บก.) คนนึง ก็รู้สึกว่ามันมีความอบอุ่นในความคิด ในจิตใจบางอย่าง... ซึ่งพูดยาก
คือไม่รู้สึกว่าใจหายแล้ว แต่รู้สึกว่าวิธีคิดและวิธีเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่เราตามอ่านกันมา เราอ่านมันทุกสัปดาห์ มันอยู่กับเรา และเราก็ได้อาศัยมันใช้ในการวิเคราะห์ และทำความเข้าใจปัญหาต่าง ๆ อยู่ กล่าวคือ ถึงแม้ตัวแกจะจากไปแล้ว แต่มรดกทางความคิด มรดกทางความเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ทางสังคมไทยน่าจะอยู่กับเราไปอีกนาน
ผมเลือกหัวข้อวันนี้คือ "จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน" เพื่อให้เกียรติกับครูของผม 2 คนซึ่งจากไปแล้วทั้งคู่ คือครูเบน แอนเดอร์สัน ซึ่งเป็นเจ้าของความคิดว่าชาติคือชุมชนในจินตนากรรม และก็มานั่งนึกถึงการที่อาจารย์นิธิได้พยายามประยุกต์ใช้แนวคิดอันนี้เข้ากับเมืองไทย และต่อยอดไปให้เราเห็นว่า ชาติ หรือชุมชนแบบเมืองไทยเนี่ยมันถูกจินตนากรรมว่าอย่างไร ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้รำลึกถึงครูทั้งสองคน
ก่อนอื่นก็เอาสักหน่อยนะครับ... ว่าชุมชนในจินตนากรรม ซึ่งคือความหมายของชาติเนี่ย อาจารย์เบนเขาคิดว่ายังไง ประเด็นนี้อาจารย์นิธิได้ช่วยสรุปไว้นะครับ ซึ่งผมคิดว่ากระชับและแยบคายดี คืออาจารย์นิธิบอกว่า ศาสตราจารย์เบน แอนเดอสันได้อธิบายว่า เมื่อเรานึกถึงคนในชุมชนที่เรียกว่าชาตินั้น ส่วนใหญ่แล้วสมาชิกของคนในชุมชนที่เรากำลังนึกถึง คือ คนที่เรา 'ไม่รู้จัก ไม่มีวันจะรู้จัก และไม่มีวันจะรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเขาเลย'
เราจะรู้จักเพื่อนร่วมชาติทั้งชีวิตเราเนี่ย ผมว่าคงไม่เกินหมื่นคน (ก็ยังมากไปมั้ง) ดังนั้นเพื่อนร่วมชาติที่เรารักกันในฐานะคนไทยเนี่ย เราไม่รู้จักเขาเลย ในความเป็นจริงนั้น เขามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ก็ไม่มีทางทราบได้... เอาเข้าจริง ๆ เราไม่เคยเห็นเขา.. เราไม่เคยพิสูจน์ทราบ ID ของเขาเลยด้วยซ้ำว่าเขามีตัวตนจริงรึเปล่า แต่เราก็เชื่อแน่ ว่าเขามีอยู่จริง และร่วมเป็นสมาชิกชุมชนเดียวกับเราอย่างแน่นอน ฉะนั้นชาติจึงเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น พูดง่าย ๆ คือ ชาติเป็นของอย่างหนึ่ง ที่จะเห็นได้เนี่ย ไม่ใช่ด้วยตาเปล่า แต่ต้องหลับตา คุณไม่มีวันจะเห็นชาติไทยได้ โดยลืมตาดูด้วยตาเปล่า และทางเดียวที่คุณจะเห็นชาติไทยได้ คือคุณต้องหลับตาและจินตนาการเอา
หมายความว่า... เราต้องจินตนาการพื้นที่ร่วมกันถึงสิ่งที่เรียกว่าชาติไทย ซึ่งเราจินตนาการกันผ่านแผนที่ ผ่านประวัติศาสตร์ จินตนาการถึงสายสัมพันธ์ร่วมกัน (ซึ่งในความเป็นจริงเราอาจจะไม่มีก็ได้) ผ่านสัญลักษณ์ทั้งหลาย เป็นธงชาติ เป็นเพลงชาติ หรืออะไรก็แล้วแต่
ความคิดเรื่อง Imagined Community (IC) หรือชุมชนจินตกรรมของอาจารย์เบนนั้นออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2526 ผมได้ลองไปประมวลว่ามีนักวิชาการคนใดพยายามจะนับญาติกับ IC โดยการเอาแนวคิดนี้มาประยุกต์กับสังคมไทยยังไงบ้าง ก็พบงานชิ้นแรกที่ปรากฏคืองานของอาจารย์นิธิในปาถกฐาปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี พ.ศ. 2534 (คือ 8 ปีหลังจาก IC ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นภาษาอังกฤษ) ชื่องานนั้นคือ ชาติไทย และเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษา
ปีถัดไปที่น่าสนใจคือปี 2537 เพราะในปีเดียวกันนี้ มีงาน 3 ชิ้นที่พยายามจะประยุกต์ใช้ IC ในการเข้าใจชาติไทยและเมืองไทย ชิ้นแรกก็เป็นของอาจารย์นิธิอีก ชื่อ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชไทย" เป็นบทความ อีกสองชิ้นคืองานของผมเอง ชื่อ "แลนลอดลายมังกร" กับ "จินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชน : ชนชั้นกลางลูกจีนกับชาตินิยมโดยรัฐของไทย" (บังเอิญว่าอาจารย์เบนก็เป็นครูของผม ผมเลยพยายามจะเอา IC มาใช้ทำความเข้าใจชาติไทย เมืองไทย) ซึ่งต่างกับของอาจารย์เบนตรงที่ ของอาจารย์เบนคือการมองว่าชาติคือจินตนากรรมที่เป็นชุมชน (Imagined Community) แต่ผมคิดว่าในกรณีไทยมันคือจินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชน (Imagined Uncommunity) และในปีเดียวกันนี่แหละ ที่งาน Siam Mapped ของอาจารย์ธงชัยตีพิมพ์ คือปี ค.ศ. 1994 น่าสนใจที่ปีนี้เป็นปีที่มีงานที่พยายามจะใช้ IC มาคิดอยู่หลายชิ้น
สิ่งที่น่าสนใจในงานที่ออกมาในปี 2537 ของงานอาจารย์นิธิเรื่องรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชเนี่ยก็คือ อาจารย์นิธิตีความว่าชาติไทยมันเป็น Imagined Uncommunity นั่นแหละ คือจินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชน ซึ่งตรงกันเป๊ะกับที่ผมคิดเลย เพียงแต่ว่าวิธีการมองของอาจารย์นิธิเห็นความไม่เป็นชุมชนแบบแบ่งเป็นชั้นฐานันดร คือชุมชนมันน่าจะกลมกลืน และเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่อาจารย์นิธิคิดว่า จินตนากรรมเกี่ยวกับชาติไทยเมืองไทยที่เริ่มปรากฏขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 มันถูกจินตนากรรมออกมาเป็นชั้นฐานันดร กล่าวคือ ทันทีที่คนไทยตื่นตัวและเข้าใจเรื่องชาติว่าเป็นจินตนากรรม จะพบว่าคนไทยในชาตินี้ "ไม่เสมอภาคกัน"
ในมุมที่ผมมองเนี่ยคือเรื่องชาติพันธุ์ คือมองเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนไทย คนจีน และคนกลุ่มอื่น ซึ่งผมพบว่าจินตนากรรมชาติที่ถูกคิดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีเส้นแบ่งอีกเส้นหนึ่งที่ไม่ใช่เส้นแบ่งเป็นชั้น แต่เป็นเส้นแบ่งทางกลุ่มชาติพันธฺ์ แบ่งระหว่างกลุ่มคนไทย กับกลุ่มคนจีน คือถือว่าความสำคัญอยู่ที่กลุ่มคนไทย และทำยังไงให้ความเป็นไทยครอบกลืนกลุ่มคนจีนให้ได้ คือเราเห็นตรงกันว่ามันมี Imagined Uncommunity ในกรณีเมืองไทย เพียงแต่ว่าอาจารย์นิธิเน้นว่ามันแบ่งเป็นชั้น มันไม่เสมอภาคกัน ขณะที่ผมเน้นเรื่องการแบ่งเป็นกลุ่มตามชาติพันธุ๋
งานสำคัญที่ทำให้เราเห็นภาพว่าอาจารย์นิธิคิดว่าชาติไทย/เมืองไทยถูกจินตนากรรมโดยรัฐไทยอย่างไร คืองานปี พ.ศ. 2534 ซึ่งอาจารย์นิธิดึงออกมาว่า.. ตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว การทำตำราเรียน ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเจตจำนงชัดเจนว่าจะให้การศึกษาเรื่อง "ชาติ"
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เป้าหมายในการเขียนตำรา.. ข้อแรกคือ ทำให้คนที่เรียนหนังสือรักอิสรภาพแห่งชาติ และประพฤติตนอยู่ในสุจริตธรรม วิธีการคือ.. รัฐบาลมีอำนาจที่จะตกแต่งนิสัยใจคอให้กับไพร่บ้าน/พลเมืองได้ โดยแต่งหนังสือสำหรับสอนเด็กนักเรียน ใช้โอกาสในการทำตำราเรียนนี่แหละ ในการสร้างนิสัยใจคอแบบที่รัฐต้องการ
จากการดูตำราเรียนประถมศึกษาของอาจารย์นิธิ ท่านบอกว่าชาติไทยเมืองไทยถูกจินตนากรรมออกมาให้เป็น "หมู่บ้าน"
ผมคิดว่าจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้ เราต้องลองนึกถึงประสบการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมหมู่บ้าน มาเป็นสังคมเมืองสมัยใหม่ ซึ่งมันเกิดขึ้นในประเทศที่เจริญก่อน คือ แถบยุโรป นักวิชาการจำนวนมากในสมัยนั้นพยายามจะทำความเข้าใจในประเด็นนี้ จึงได้แบ่งว่าเดิมทีสังคมยังไม่มีอุตสาหกรรม ยังไม่มีเมือง เรียกว่า "Gemeinschaft" ก็คือหมู่บ้านชนบท ต่อมาเมื่อมีการรวมตัวกันเป็นเมือง เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น คนอพยพเข้ามาในเมือง กลายเป็น "Gesellschaft" หรือสังคมเมืองสมัยใหม่
หน้าตาของ Gemeinschaft หรือหมู่บ้านชนบท ก็คือชุมชนท้องถิ่น เน้นใกล้ชิด เป็นกันเอง คลุกคลีตีโมง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่สมาชิก เอิ้นหากันว่า "พี่" "น้อง" "ลุง" "ป้า" "น้า" "อา" ใช้คำเรียกญาติในการเรียกหากัน ย้ายถิ่นน้อย เลื่อนชั้นทางสังคมน้อย หรือไม่มีเลย ชุมชนจึงเป็นบ้านเกิด ที่เติบใหญ่ของเขา ภาพชุมชนในอุดมคติจะหยุดนิ่ง สงบเรียบร้อย และยึดรากเหง้าของตน สมาชิกในชุมชนจะสวมรับบทบาท และดำเนินวิถีชีวิตตามที่ชุมชนมอบหมายสืบทอดกันมาแต่ไหนแต่ไร เคยทำนาก็ทำนา เคยตีเหล็กก็ตีเหล็ก เคยเป็นพระก็เป็นพระต่อ ชาวบ้านจะเคร่งครัดขนบธรรมเนียม ประเพณี และค่านิยมของชุมชน เน้นระบบเครือญาติ ผูกติดอยู่กับแบบวิถีและลําดับชั้นทางฐานะ อํานาจอันแน่นอนตายตัว พฤติกรรมของพวกเขาจะถูกกํากับด้วยความยึดมั่นชุมชนท้องถิ่นอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยสัญชาตญาณ (อย่างอัตโนมัติ) เรียกได้ว่าบุคคลกับชุมชนแนบแน่นเป็นเนื้อเดียว จนเจ้าตัวแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวจากผลประโยชน์ชุมชนไม่ออก จึงง่าย และจําเป็นที่จะต้องสมานฉันท์ ที่จะต้องรู้รักสามัคคี และประนีประนอมปรองดองกันในชุมชน
สรุปก็คือ เวลาคิดว่าประเทศเป็นหมู่บ้านเนี่ย ก็คือคิดถึงวิถีชีวิตชาวบ้านในหมู่บ้าน เกษตรกรรมชนบทเล็ก ๆ พึ่งตนเอง พอเพียงในตนเอง ชาวบ้านละม้ายเหมือนกลมกลืนกัน ยังไม่ทันแบ่งแยกแตกต่างหลากหลายออกจากกันเป็นปัจเจกบุคคล (เป็น pre-individuals ยังไม่ทันจะเป็น Individual ก็คือมันยังไม่ทันด้วน มันยังยึดติดกับสังคมหมู่บ้าน ธรรมเนียมประเพณีและรากเหง้าอยู่) ซึ่งเป็นหมู่บ้านไทยในอุดมคติ
พูดง่าย ๆ มันก็คือครอบครัวขยายวง คิดกันเป็นตระกูลใหญ่ ครอบครัวใหญ่ นับถือกันเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา เราแยกตัวเองออกจากหมู่บ้านไม่ออก รู้สึกว่าตัวเองกับหมู่บ้านกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน
.
ในขณะที่ Gesellschaft หรือ สังคมสมัยใหม่ก็คึอ กรุงเทพมหานครหรือเชียงใหม่ที่เราอยู่ สังคมที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้าที่ต่างคนต่างอยู่โดด ๆ ต่างหากจากกันแบบตัวใครตัวมัน ดังนั้นเราเรียกกันเป็น "ผม" "คุณ" "เขา" "เธอ" เราจะคบค้ากันก็เพื่อเป็นเครื่องมือไปบรรลุเป้าประสงค์ที่แน่นอน สัมพันธ์กันแบบเป็นทางการ ตามกฎหมายหรือพันธะสัญญา ด้วยความสมยอมสมัครใจ ท่วงทํานองความสัมพันธ์จะตรงไปตรงมา ฉับไว และเน้นความชํานาญพิเศษ สรุปก็คือมันเป็นเป็นโลกของ “อินดิวิด้วน” ที่เป็นคนแปลกหน้า แล้วมาอยู่รวม ๆ กัน ของคนที่หลุดออกจากราก ขนบธรรมเนียม ประเพณี รากเหง้าของตัวเอง แล้วมาอยู่รวมกัน แล้วต่างคนเป็นคนแปลกหน้า สถานการณ์ที่ใกล้เคียงก็คือตามท้องถนน คือเราแต่ละคนเจอกันบนถนน รถเต็มไปหมด เราไม่รู้จักกันเลย แต่เรามาอยู่รวมกัน ทุกคนเป็นปัจเจกบุคคลแต่เป็นคนแปลกหน้าต่อกันทั้งสิ้น มันจะอยู่กันได้ต้องเคารพกฎจราจร ไม่งั้นรถชนกันชิบหาย ในขณะที่ถ้าคุณอยู่ในหมู่บ้านเนี่ย... มันไม่มีกฎจราจรนะครับ ใช้การพยักหน้า "หวัดดีลุง ! เบรกหน่อย" อะไรแบบนี้ ซึ่งผมก็ยังทำอยู่บ้างเวลาที่ไปเยาวราช
ความต่างที่สำคัญที่ง่ายจะจำคือว่า.. มันคือความต่างระหว่างร้านโชห่วยข้างบ้าน กับเซเว่น คุณเข้าเซเว่น คุณไม่ต้องพูดห่าอะไรเลย คุณไม่ต้องถามด้วยว่านมอยู่ไหน ? ผ้าอนามัยอยู่ไหน ? ชอคโกแลตอยู่ไหน ? เพราะมันออกแบบเหมือนกันหมด ทุกร้านทั่วประเทศ มันเป็นร้านที่ออกแบบมาให้คนแปลกหน้า ในขณะที่คุณเข้าไปที่ร้านโชห่วย คุณไม่รู้ว่าน้ำมันพืช เนื้อแห้งมันอยู่ไหน คุณต้องถามเจ๊เจ้าของร้าน มันกระตุ้นให้เกิดบทสนทนา ซึ่งมันก็จะเลยไปเรื่องอื่น "ป้าเป็นไง ?" "หลานเป็นไง ?" มันเกิดความสัมพันธ์ที่เหมือนกับเป็นกลุ่มเดียวกัน/ครอบครัวเดียวกันขึ้นมา
อีกตัวอย่างนึงที่อาจจะคิดได้ก็คือ นึกถึงเวลาที่คุณไปที่ร้านแล้วคุณลืมเอาตังค์มา.. ถ้าคุณเข้าร้านโชห่วย แล้วพบว่า "ไอ้ชิบหาย ลืมเอาตังค์มา !" เราติดไว้ก่อน "เอ้อ เราไว้ใจ ไม่ใช่คนแปลกหน้า เราเชื่อถือ" ลองไปที่ร้านเซเว่น "น้อง... พี่ลืมเอาตังค์มา เอาชื่อไว้ก่อนได้มั้ย" เราก็จะชิบหายนะครับ
ไอ้จินตนากรรมหมู่บ้านนี่แหละคือจินตนาการที่รัฐไทยพยายามจะทำให้คิดตาม ทีนี้ปัญหาก็คือว่า มันเป็นอุดมคติที่ไม่มีจริงอะ อาจารย์นิธิฟันธงไว้ว่า มันเป็นจินตนากรรมชุมชนหรือหมู่บ้าน (Gemeinschaft) ที่ไม่มีจริง แต่มันถูกใช้มากดทับสังคมสมัยใหม่ (Gesellschaft) แกบอกว่า อุดมคติของหมู่บ้านในอดีต เป็นสิ่งทื่ไม่อาจพบเจอได้ในที่ใดของประเทศไทยในปัจจุบัน (พ.ศ. 2534) และในขณะเดียวกันก็ไม่อาจพบได้ในอดีตด้วย แกคิดว่าในอดีตแม่งก็ไม่มี ทั้งนี้ เพราะลักษณะดังกล่าวเป็นการนึกฝันย้อนไปถึงอุดมคติที่ไม่มีจริง ของคนกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นการสร้างลักษณะตัวแบบที่เป็นอุดมคติ (Ideal type) ของนักวิชาการเพื่อวัดควาเมปลี่ยนรแปลงในระยะหลังเท่านั้น
ทีนี้ โอเค.. คุณอยากจะทำให้เมืองไทยกลายเป็นชาติ โดยการตกแต่งนิสัยใจคอให้คนในชาติ ให้คิดถึงชาติเหมือนกับเป็นหมู่บ้าน เป็นชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกัน ผลมันคืออะไร ?
ผมคิดว่าผลกระทบมันมีหลายแง่ ผมจะยกตัวอย่างจำนวนนึง ในแง่รัฐกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ..
จินตนากรรมอุดมคติหมู่บ้านของรัฐที่ไม่มีจริงเนี่ย มันกดทับสังคมเมือง ซึ่งเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ลองคิดถึงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน ประมาณ 30 ปี สังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยีไทยมันเปลี่ยนมหาศาล สังเกตได้จากคำที่มันเข้ามาอยู่ในหัวเราในรอบ 30 ปีมานี้ เช่น IT, Social Media, Digital Economy, Platform Economy, AI, Robotics, EV, Precariat(ชนชั้นเสี่ยง) เหล่านี้คือควาเมปลี่ยนแปลงที่ประทุเกิดขึ้นเยอะขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ขณะเดียวกันจินตนากรรมไม่เปลี่ยน รัฐพยายามจะบอกให้คนคิดถึงหมู่บ้านอุดมคติเหมือนเก่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ Individualization Without Individualism กล่าวคือสังคมไทยทำให้คนแตกแยกออกจากัน บนความปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ/เทคโนโลยีเนี่ย กลายเป็นว่าทุกคนกลายเป็นคนแปลกหน้าเต็มไปหมดเลย แต่เรากลับเสือกไม่มีความคิด Individual อะ... ยังพยายามปลูกฝังความคิดว่าเราเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ชาวบ้านเดียวกันอยู่ มันเลยกลายเป็นสังคมที่ในความเป็นจริงเต็มไปด้วยปัจเจกชนเต็มไปหมด ไม่มีแล้วนะครับมอเตอร์ไซค์ตามหัวมุมถนน ลดน้อยลงเยอะ กลายเป็น Grab เป็นการส่งที่รับจ้างอิสระ ดังนั้นแนวโน้มที่ผลักให้คนเป็นปัจเจกชนทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีเนี่ย มันมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีความคิดที่ให้คุณค่ากับความเป็นปัจเจก สิทธิเสรีภาพ และการเป็นเจ้าของตัวเองควบคู่ไปด้วย รัฐยังบอกว่าคุณเป็นอย่างอื่นอยู่
คือรัฐบอกคนอื่นเขาว่า แทนที่รัฐจะดํารงอยู่เพื่อรับใช้ปกป้องสิทธิเสรีภาพของ ปัจเจกบุคคล กลายเป็นบุคคลดํารงอยู่เพื่อรัฐ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้ แทนที่อำนาจจะมาจากล่างขึ้นบน กลายเป็นอำนาจไหลจากบนลงล่าง.. จากผู้มีอำนาจลงไปข้างล่าง และเชื่ออย่างไม่สงสัยว่าคนไทยไม่ควรมีอํานาจเท่ากัน คนไทยบางคนควรมีอำนาจมากว่าคนไทยคนอื่น เพราะพวกเขามีความเป็นไทยมากกว่า และเป็นคนดีมีศีลธรรมยิ่งกว่าคนไทยคนอื่น และบ้านนี้เมืองนี้ดีแล้วที่เป็นเช่นนี้
ที่นี้ในแง่สังคมการเมือง วิธีคิดแบบหมู่บ้านเนี่ย มันทำให้คิดกับประชาชนเหมือนกับเป็นร่างกาย ประกอบไปด้วย แขน ขา มือ เท้า ลิ้น หัวใจ มีอวัยวะทำหน้าที่ประสานสอดคล้องกลมกลืน เป็นองค์รวมเดียวกัน แบ่งแยกจากกันไมได้ แล้วเอาอันนี้มาขีดเส้นแบ่งระหว่างคนไทย (คือคนที่สังกัดร่างกายของความเป็นไทย) กับคนไม่ไทย (คือคนที่อยู่ข้างนอก) ถ้าคิดแบบนี้ หมายความว่าบุคคลถูกกำหนดโดยหน้าที่ บุคคลพึงทำตามหน้าที่ของตน ซึ่งอาจกำหนดจากอาชีพ กฎหมาย และวัฒนธรรมประเพณี ตีกรอบจำกัดบทบาทที่พึงมีของแต่ละคน ตามหน้าที่นั้นอย่างหยุดนิ่งตายตัว.. เป็นนักศึกษาก็เรียนหนังสือไป เสือกมาก่อม็อบทำไม.. เป็นกรรมกรก็ทำงานไป เสือกมานัดหยุดงานทำไม.. เป็น NGO ก็ทำงานสังคมสงเคราะห์ไป เสือกมาก่อม็อบทำไม
ทีนี้ความสำคัญขององค์รวม หรือส่วนทั้งหมดในนามชาติ เป็นเอก เป็นหลักเหนือแต่ละส่วนแต่ละคน เมื่อคิดถึงประเทศชาติเหมือนเป็นร่างกาย จึงไม่มีที่ให้มีความขัดแย้ง หรือความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง มีแนวโน้มจะเห็นความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงในชาติเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ เพราะตีนข้างซ้ายย่อมไม่ขัดกับตีนข้างขวา ถ้าขัดกันเราก็เดินไม่ได้ และมือข้างซ้ายก็ย่อมไม่ขัดกับมือข้างขวา ไม่งั้นเราก็หยิบของไม่ได้
นอกจากนี้ ยังเกิดอาการทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ซึ่งผมอยากจะเรียกว่า "อาการวัฒนธรรมเภท" ผมคิดมาจากคำว่าจิตเภท หรือ Schizophrenia เป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ผมคิดว่าการยึดติดกับหมู่บ้านในอุดมคติเนี่ย ทำให้เกิดอาการที่อาจจะเรียกได้ว่า Cultural schizophrenia หรืออาการวัฒนธรรมเภท อาจารย์นิธิกล่าวไว้ว่ามันตลกดี.. ที่ในขณะที่คิดอยากจะให้ประเทศไทยเป็นหมู่บ้านเนี่ย คนที่คิดและปลูกฝังเรื่องนี้เนี่ยมีความหวังอย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย แต่จะยังสามารถรักษาเนื้อแท้ของค่านิยมเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น.. คือเอาการพัฒนา เอาความทันสมัย แต่ไอ้ห่า !! มึงอย่าทิ้งความเป็นไทย
เอาควาเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความเป็นปัจเจกบุคคลเต็มไปหมด แต่เขาไม่ให้คุณคิดแบบปัจเจกบุคคล มันทำให้เกืดอาการที่ผมเรียกว่า “วันทองสองใจ” ที่ “หัวมังกุท้ายมังกร” อยากได้ทั้งจารีต ประเพณี & อยากได้ความทันสมัย อยากได้ทั้งขุนแผน & ขุนช้าง อยากเป็นไทย & อยากไม่เป็นไทยในเวลาเดียวกัน
มันจะมีอยู่ตลอดอะครับ อาการแบบวัฒนธรรมเภทแบบนี้
สุดท้ายมันมีทางออกยังไงบ้างมั้ย ? อาจารย์นิธิให้ข้อสังเกตไว้ว่า หมู่บ้านความเป็นไทยในอุดมคติเนี่ยมันเป็นมโนทัศน์ที่หยุดนิ้่ง มันเป็น Concept ที่ใช้มา Conceive หรือทำความเข้าใจเมืองไทยชาติไทยที่หยุดนิ่ง และมันไม่เคยเปลี่ยนเลย มันผลิตซ้ำวาทกรรมอันเป็นรากฐานของโครงสร้างทางสังคม และถ้าเราจะหลุดออกจากนี้ เราต้องรื้อมโนทัศน์ชุดนี้ทิ้งครับ รื้อคิดใหม่ ผมคิดว่าในสายตาอาจารย์นิธิและบทบาทของแกเนี่ย เป็นบทบาทของปัญญาชนนักวิพากษ์สาธารณะในการสร้างจินตนาการใหม่ และการคิดเองเป็นขึ้นมา
อะไรคือจินตนาการในความหมายของอาจารย์นิธิ แกพูดถึงจินตนาการตอนพูดถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเอาไว้ว่าอย่างนี้ครับ
“ทําไมต้องเป็นมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หรือทําไมต้องเที่ยงคืน" ตอนนี้ก็ชักจะมืดแล้วนะครับ ได้เวลาพอดีเลย... “ในโลกก่อนที่จะมีไฟฟ้าใช้นั้น กลางวันกับกลางคืนแตกต่างกันอย่างลึกซึ้งแก่จิตใจ และความนึกคิดของผู้คน แสงสว่างทําให้ทุกอย่างเผยร่างของมันให้เห็นได้ถนัด จนทําให้เรานึกว่าความเป็นจริงคือสิ่งที่ตาเราเห็น”
“ความเป็นจริงของคนกลางวันเกิดจากการชั่ง การตวง การวัด ได้ผลอย่างไรก็สามารถบอกความเป็นจริงออกมาได้ เป็นมิลลิเมตร หรือเล็กกว่านั้นล้านเท่าก็ยังได้”
“แต่ในกลางคืนที่มีเพียงแสงสลัว มนุษย์ใช้ตาและเครื่องวัดหยั่งไปถึงความเป็นจริงไม่ได้ ต้องอาศัยจินตนาการ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในสมองซีกขวา แต่ก็ถูกขัดเกลาสร้างระบบขึ้นจากสมองซีกซ้าย”
“ในระบบการศึกษาของโลกปัจจุบัน ความสามารถของมนุษย์ตรงนี้ถูกละเลยอย่างน่ากลัวยิ่ง ทําให้ความเป็นจริงของโลก คับแคบ ตื้นเขิน และไร้ศีลธรรม”
“พวกเราต้องการรื้อฟื้นวิธีคิดของกลางคืนกลับมาในระบบการศึกษา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเป็นชื่อที่บอกให้รู้ถึงอุดมคติ และแนวคิดของมหาวิทยาลัยไปพร้อมกัน”
คือคุณจะ Reconceive เมืองไทยได้ อันแรกคือคุณต้องมีจินตนาการ และอันที่สอง คือคุณต้อง ‘คิดเองเป็น’
อีกบทความนึงครับ เมื่อปี พ.ศ. 2543 ของอาจารย์นิธิ แกเขียนไว้ว่า “หัวใจของการ ‘คิดเป็น’ คือคิดอะไรต่างจากที่คนอื่นเขาคิดมาอยู่แล้ว หรืออย่างน้อยก็คิดสิ่งที่คนอื่นคิดมาแล้วใหม่ จนกลายเป็นความคิดของตัว ในความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ทํางานอย่างนี้ไม่ใช่หรือ ? คือจินตนาการถึงเงื่อนไขอื่น ๆ ซึ่งคนอื่นยังคิดไปไม่ถึง มหาวิทยาลัยไทยต้องการนักเรียนที่ “คิดเป็น” จริงหรือ ถ้าอย่างนั้นมหาวิทยาลัยได้ทําอะไรกับนิสิตนักศึกษาของตัวให้ ‘คิดเป็น’ บ้าง และ ‘คนคิดเป็น’ นั้น ราชการและธุรกิจไทยต้องการแน่หรือ ? ”
แต่ว่าถ้าเราคิดถึงการจินตนาการชาติไทยใหม่ เราจำเป็นต้อง ต้องการคนที่คิดเองเป็น
ผมอยากจบอันนี้ด้วยข้อคิดสั้น ๆ นะครับ คือ ผมชอบดูหนังโหลดนะครับ ในหนังโหลดเรื่องนึงมันมีฉากงานศพเกิดขึ้น เขาบอกว่า
“คนที่จากเราไปเนี่ย จากเราไปสองครั้ง ครั้งแรกเขาจากเราไปทางกายภาพชีวภาพ ก็คือ เขาสิ้นชีวิต แต่เอาเข้าจริงเขายังไม่จากไป เขาจะจากไปในครั้งที่สอง เมื่อความจำที่มีต่อเขา.. ของคนสุดท้ายที่จำเขาได้เนี่ย.. ลืม ... เขาจะจากไปครั้งที่สองเมื่อคนทั้งโลกลืมเขา ในความหมายนี้ผมคิดว่า อาจารย์นิธิยังจะอยู่กับเราไปอีกนานแสนนานครับ” ขอบคุณมาก ๆ ครับ
เครดิตภาพ : คิดถึงอาจารย์นิธิ
__________
#เฌองดอย
#90วันนิธิเอียวศรีวงศ์
#เกษียรเตชะพีระ
#ชุมชนจินตกรรม
มาหยั่งเสียงเลือกอธิการบดีของเรา !
คลิกเลย!
https://cmu.to/VotePresidentCMU
(ใช้อีเมลของมหาวิทยาลัย ในการ Log in เท่านั้น)
ในวันพุธ ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 10.00 น. - 17.00 น. (วันนี้)
สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอเชิญชวนนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกันแสดงเจตจำนงแห่งประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยการ
" หยั่งเสียงเลือกอธิการบดีคนต่อไป "
โดยรายนามผู้ตอบรับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ดังนี้
- ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล
(ไม่พบข้อมูลการแสดงวิสัยทัศน์สู่สาธารณะ)
- รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
( รับฟังวิสัยทัศน์การบริหารได้ที่ https://www.facebook.com/watch/?v=261942496045937 )
- ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี
( รับฟังวิสัยทัศน์การบริหารได้ที่ https://www.facebook.com/watch/?v=975701596673394 )
- รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
( รับฟังวิสัยทัศน์การบริหารได้ที่ https://www.facebook.com/watch/?v=371262831001429 )
ทั้งนี้ ทางสโมสรนักศึกษาขอยืนยันในความเข้าใจอันดีว่าการจัดให้มีการหยั่งเสียงในครั้งนี้นั้นอาจไม่ส่งผลอย่างเป็นทางการ
หากแต่การหยั่งเสียงในครั้งนี้จะเป็นการฝังเมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตยที่เริ่มจะงอกเงยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจริญงอกงามในอนาคตอย่างสง่าผ่าเผย
สโมสรนักศึกษาจะนำผลการหยั่งเสียงที่ได้ รายงานสู่สาธารณะและยื่นแก่กรรมการสรรหาอธิการบดีเพื่อประกอบการพิจารณาคัดสรรอธิการบดีต่อไป
ขอให้สมาชิกประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกคนร่วมมือกัน !
#หยั่งเสียงเลือกอธิการบดีมช
#ประชาคมมชต้องการการหยั่งเสียง
#โปร่งใสที่เป็นความลับ
#งานนโยบายสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คำถามต่อมหาวิทยาลัย
คือ คุณจะยังหมกมุ่นกับแร็งกิ้ง
หรือไม่? ในเมื่อสังคมไทยกำลังบอบซ้ำ ยิ่งในทางเศรษฐกิจ...
แร็งกิ้งอาจจะช่วยชนชั้นนำบางคน แต่ไม่ใช่สังคมโดยรวม....
มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสวัสดิการ...
สโลแกนของดิฉัน คือ
หยุดสืบทอดอำนาจเผด็จการเสรีนิยมแบบล้าหลัง!!
รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
5 กุมภาพันธ์ 2565
"หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น
ถ้าผมเป็นอธิการบดี ผมจะไม่เข้าร่วม!
ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม...
เราจะต้องเป็นสถาบันการศึกษา
ที่ยึดมั่นในภูมิปัญญาและเคารพต่อระบอบประชาธิปไตย"
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
5 กุมพาพันธ์ 2565
"มหาวิทยาลัย ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่ทำงานของชนชั้นผู้บริหาร
แต่คือลมหายใจและความรู้สึกนึกคิดของประชาคมในมหาวิทยาลัยนั้น"
ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี
5 กุมภาพันธ์ 2565
เวทีแสดงวิสัยทัศน์ Candidate อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี
- รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
- รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
https://fb.watch/aZO7QRkXcX/
La Montagne CMU : กลุ่มนักศึกษาเฌองดอย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ updated their business hours.
สรุป Candidate ที่ตอบรับเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ณ เวลาปัจจุบัน
- ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี
- รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
- รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
************************************************
ขอเชิญชวนเพื่อนนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ร่วมฟังกิจกรรม
" แสดงวิสัยทัศน์ว่าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "
ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และ Facebook Live เพจ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันเสาร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป (ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 12.00 น.)
ทั้งนี้ เพื่อนนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และประชาชนสามารถส่งคำถามไปยังว่าที่อธิการบดีได้ที่ลิงค์
https://forms.gle/FSHrgRvRXqmQqeSZ7
" เพราะการเลือกอธิการบดีไม่ใช่การเล่นขายของ "
ร่วมผลักดันโดย
สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชมรมกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์
และ กลุ่มนักศึกษาเฌองดอย (La montagne)
ลามงตาญ
เปิดรับสมัครสมาชิกทั่วไป เข้าร่วมกับกลุ่มนักศึกษาเฌองดอย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (La Montagne CMU) เพื่อร่วมกันเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนกิจกรรมนักศึกษาและนโยบาย และรวบรวมรายชื่อเพื่อจดจัดตั้งพรรคนักศึกษาต่อไป
https://forms.gle/ZWnbWzLWNZQMpSdcA
ทั้งนี้เรายังค้นหาเพื่อนร่วมงาน ที่จะมาร่วมกันทำงาน, ออกแบบนโยบาย, ออกแบบกิจกรรมนักศึกษา และกิจกรรมเพื่อสังคม
ร่วมกันสร้างสรรค์ มช. สู่สังคมใหม่ เพื่อพรุ่งนี้ของเราทุกคน
-------
หมายเหตุ : ข้อมูลของท่านจะถูกรวบรวมไว้ เพื่อเสนอจัดตั้งพรรคนักศึกษากับทางมหาวิทยาลัย โดยไม่มีการเผยแพร่ใดๆ
ขอเชิญชวนเพื่อนนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ร่วมฟังกิจกรรม
" แสดงวิสัยทัศน์ว่าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "
ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และ Facebook Live เพจ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันเสาร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เพื่อนนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และประชาชนสามารถส่งคำถามไปยังว่าที่อธิการบดีได้ที่ลิงค์
https://forms.gle/FSHrgRvRXqmQqeSZ7
" เพราะการเลือกอธิการบดีไม่ใช่การเล่นขายของ "
ร่วมผลักดันโดย
สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชมรมกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์
และ กลุ่มนักศึกษาเฌองดอย (La montagne)
คลิกที่นี่เพื่อเป็นสมาชิก?
ประเภท
เว็บไซต์
ที่อยู่
Chiang Mai
ถนนบายพาสเลียบคลองชลประทาน ม. 7
Chiang Mai, 50180
ขอโทษ คำสั้นๆ มักใช้ในวันที่มัน สายเกินไป
Chiang Mai, 50160
รับออกแบบลวดลายผนัง เพ้นท์ลายผนัง ออกแบบอาร์ตเวิร์ค โลโก้ สื่อโฆษณา