SPACECRAFT
You may also like
คราฟท์เบียร์ทางเลือก โดยผู้ผลิตรายเล็ก
Product Line-up!
Discovery - American Wheat Beer 5.2%
Event Horizon - Oatmeal Stout 5.5%
Freedom - Hazy IPA 6.0%
Starship - Interstellar Pale Ale 5.5%
Spaceliner - Hopfenweisse 5.5%
ฝากประชาสัมพันธ์งาน Coffee and Brew Playground ครับ🍺
เปิดสนาม Playground ของนักดื่ม “เย็น Drinks – Morning กาแฟ” ในงาน Coffee and Brew Playground @ ริมทะเลสาบเมืองทองธานี 8 – 10 ธ.ค. 66 ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 ทุ่ม
🌥Morning for
สนามเด็กกาแฟ ที่ยกเมล็ดกาแฟ Specialty ☕จากหลากหลายแบรนด์และโรงคั่วทั่วไทย ที่สำคัญมีเมล็ดประมูลและได้ผ่านการประกวดอีกด้วย รวมถึงอุปกรณ์สำหรับสาย Slow Bar มาขาย ในบรรยากาศริมทะเลสาบ ปะทะลมหนาวในช่วงปลายปี
🌄Evening for
ครั้งนี้สนามของเรามีโซนใหม่กับโซนเด็กเล่นคราฟท์โดยเฉพาะ 🍻
ที่จะชวนทุกคนมาดื่มด่ำความสุขไปพร้อมกันกับแกล้มในงานฟีล Festival ส่งท้ายปี 2023 จากเหล่าคนทำคราฟท์
🏞All Day for
จัดเต็มกับอาหารนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น BBQ , Thai , Korea, Japan และอื่นๆ ที่พร้อมเสิร์ฟความอร่อยตลอดทั้งวัน
🌟งานเข้าฟรี สังเกตุป้ายบอกทางเข้างานได้เลย
🐾สามารถพาสัตว์เลี้ยงมาเที่ยวงานได้ และมีกิจกรรม อย่างวิ่งแข่งมาหาแม่มา
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Coffee Playground
Craft Beer Discovery #112 : Beer x Coffee
คาแรคเตอร์ความหอมในแบบกาแฟ เป็นคาแรคเตอร์ที่อยู่ในเบียร์หลายสไตล์ โดยเฉพาะกลุ่มเบียร์ที่มีสีเข้ม ในแบบ Stout หรือ Porter หลายครั้งผมก็ได้รับคำถามจากนักดื่ม เวลาที่ดื่ม Event Horizon ที่เป็น Stout ของทางเรา ว่าใช้กาแฟเป็นส่วนผสมด้วยหรือเปล่า(ที่ทางเราไม่ได้ใส่เข้าไป) คาแรคเตอร์ความหอมในแบบกาแฟ และอโรม่าความคั่ว อาจเกิดจากการใช้มอลต์คั่ว (Roasted Barley) หลายชนิดผสมกัน และบางครั้งอาจมาจากการใช้กาแฟจริงๆใส่ลงไปเสริม ในโลกของเครื่องดื่ม กาแฟและเบียร์มีความเกี่ยวพันกันมานาน โดยเราอาจจะสังเกตุได้ว่าในภาษาอังกฤษ ทั้งกาแฟและเบียร์เราจะใช้คำว่า “Brew” เหมือนกัน โดยทั้งสองอุตสาหกรรมต่างมีความหลงใหลในด้านรสชาติที่เข้มข้น กลิ่นที่ซับซ้อน และศิลปะในการสร้างสรรค์ สาเหตุที่กาแฟเข้ากันได้ดีกับเบียร์ เพราะเบียร์(โดยเฉพาะเบียร์ที่มีสีเข้ม)และกาแฟมีโปรไฟล์ด้านรสชาติใกล้เคียงกัน กาแฟและเบียร์มีคาแรคเตอร์ในแบบคั่ว กลิ่นกาแฟ กลิ่นช็อกโกแล็ต ในแบบที่ช่วยส่งเสริมกันได้อย่างดีที่ช่วยสร้างประสบการณ์การดื่มมากขึ้น
มี Brewer และ Brewmaster หลายต่อหลายคนได้ทดลองผสมผสานกาแฟเข้ากับการผลิตเบียร์ของตนมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ได้เบียร์หลากหลายสไตล์ที่ผสมผสานสิ่งที่ดีที่สุดจากทั้งสองโลกเข้าด้วยกัน ที่ออกมาได้เป็นสไตล์ตัวอย่างดังนี้
1. Oatmeal Stout: เบียร์ Stout ที่มีสีน้ำตาลไปจนถึงสีดำ มีความครีมมี่ มีฟองสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาล เกาะแก้วได้ดี เบียร์มีความคั่ว เนื้อเบียร์แน่น มีรสหวานพอที่จะรองรับคาแรคเตอร์ของข้าวโอ๊ต มีความหวาน ความสมดุล และความครีมมี่จากคาแรคเตอร์ของข้าวโอ๊ต มาพร้อมกับอโรม่าของ grain แบบคั่วอ่อนคล้ายกาแฟ พร้อมความหวานอ่อนๆจากมอลต์ที่ทำให้รู้สึกถึง coffee-and-cream มีความ fruity ต่ำถึงสูงปานกลาง
2. International Dark Lager: เบียร์ลาเกอร์ที่สีเข้มกว่า รสเข้มกว่า และบางทีหวานกว่า International
Pale lager มีเนื้อเบียร์และรสชาติที่มากกว่า มีความขมที่ต่ำ มีอโรม่ามอลต์แบบอ่อนๆ สามารถมีคาแรคเตอร์คั่ว กาแฟและ caramel ในระดับต่ำปานกลาง สามารถมีคาแรคเตอร์ฮอปแบบ spicy, herbal หรือ floral อ่อนๆได้ มีอโรม่าและรสชาติของกาแฟในระดับอ่อนๆ
3. Schwarzbier: เบียร์ German lager สีเข้มที่ผสมผสานรสชาติมอลต์คั่วที่นุ่มนวลกับความขมจากฮอปในระดับปานกลาง มีเนื้อเบียร์ที่เบาและ dry ไม่มีรสชาติที่กระด้าง, คาแรคเตอร์ความไหม้, หรือรสที่หนักใน aftertaste ทำให้เบียร์ดื่มได้ค่อนข้างง่าย มีอโรม่าของมอลต์ในแบบ bready ได้ในระดับต่ำที่มาคู่กับคาแรคเตอร์ dark caramel มอลต์คั่วหรือกาแฟและช็อกโกแล็ต แต่ไม่ควรมีคาแรคเตอร์ความคั่วจนไหม้
4. Irish Stout: เบียร์ดำที่มีรสคั่วเด่นชัด มักคล้ายกับกาแฟ มีความสมดุลตั้งแต่ระดับกลางๆจนถึงค่อนข้างขม โดยในแบบที่มีความสมดุลจะมีความหวานจาก
มอลต์เล็กน้อย และในแบบที่ขมจะมีความ dry รสคั่วจะมีได้ตั้งแต่คล้ายกาแฟและ dry จนไปถึงแบบช็อกโกแล็ต มีอโรม่าที่หอมในแบบกาแฟที่โดดเด่น ที่อาจจะมาพร้อมกับอโรม่าแฝงของ ดาร์คช็อกโกแล็ตและโกโก้
5. Imperial Stout: เบียร์สีดำที่เข้มข้นหนักแน่น ด้วยความซับซ้อนทางอโรม่าจากมอลต์คั่ว คาแรคเตอร์กาแฟ ดาร์คช็อกโกแล็ต โกโก้ คาราเมล ฮอป พร้อมความ fruity หรือคาแรคเตอร์จากผลไม้แห้ง แบบ ลูกพรูน, black current, ลูกเกด ที่ผสมผสานกันออกมาลงตัว เป็นเบียร์ที่แอลกอฮอล์สูง บางทีอาจจะต้องผ่านการหมักและการบ่ม รวมถึงการ Aged ที่ยาวนาน
นอกจากสไตล์หลักๆที่เราสามารถพบคาแรคเตอร์จากกาแฟในเบียร์ที่กล่าวมานี้ เรายังอาจพบสไตล์ที่เป็นเบียร์ทดลองจากหลายๆเจ้า เช่น Coffee Lager, Coffee IPA และอีกหลายแบบที่เป็นเหมือนการแสดงออกด้านความคิดสร้างสรรค์ในการผลิต แต่ผลงานที่ออกมา คงต้องฟังเสียงตอบรับของนักดื่มในทางกลับกันว่าชอบหรือไม่
มาที่เรื่องการผลิตกันบ้าง วิธีการใส่กาแฟเข้าไปในเบียร์นั้นมีอยู่ไม่กี่วิธีที่เป็นที่นิยม
1. การ dry ด้วยเมล็ดกาแฟ: วิธีนี้คือวิธีที่ง่ายที่สุดในการเพิ่มคาแรคเตอร์ของกาแฟ โดยใช้เมล็ดกาแฟเข้าไป dry ในถังหมัก ในแบบเดียวกับการ dry hop เวลาจะ dry แต่ก็ต้องคำนวนเวลาที่กาแฟจะแช่อยู่ในน้ำเบียร์ดีๆ เพื่อไม่ให้คาแรคเตอร์จากกาแฟนั้นมากเกินไป หรือเราอาจใส่กาแฟไว้ในถุงแล้วค่อยทำการ dry ก็ได้ จะได้ง่ายเวลาจะแยกกาแฟออกมา วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ เห็นผลชัดเจน
2. ใส่กาแฟแบบที่สกัดเสร็จ: อีกทางเลือกหนึ่งคือการชงหรือสกัดกาแฟตามปกติจากนั้นก็ปล่อยไว้ให้เย็น แล้วค่อยเติมลงในถังหมัก เราอาจจะใส่ในช่วงหมัก หรืออาจจะใส่ในตอนบรรจุก็ได้ น้ำร้อนอาจจะเป็นการสกัดรสชาติจากเมล็ดกาแฟที่มีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ได้มาด้วยอาจจะเป็นความขมที่อาจทำให้เบียร์ของเรารสชาติเปลี่ยนไป เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ Brewer หลายคนจึงหันมาใช้วิธี Cold Brew กับกาแฟแทน โดยจะแช่กาแฟไว้ในน้ำที่อุณหภูมิห้อง หรือในตู้เย็นเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง เพื่อดึงรสชาติกาแฟออกมา จากนั้นจึงเติมกาแฟที่ได้จากการ Cold Brew นี้ลงในเบียร์อีกที วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีในการได้รสชาติและกลิ่นกาแฟ รวมถึงไม่ต้องมีปัญหาในการแยกกาแฟออกจากถังหมัก
3. ใส่กาแฟเข้าไปในขั้นตอนการต้ม: ถ้าคุณเป็น homebrewer แบบ all-grain คุณอาจจะลองเอากาแฟใส่ลงไปในขั้นตอนการต้มได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ความร้อนในตอนต้มจะสกัดความขมและรสชาติอื่นๆออกมาจากกาแฟด้วยที่อาจส่งผลต่อรสชาติ วิธีนี้จึงไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่
อีกข้อที่ควรระวังของการใส่กาแฟเข้าไปในเบียร์คือเวลากับความเข้มข้นของกาแฟ การใส่กาแฟในปริมาณที่เยอะเกินไปอาจจะทำให้เบียร์เสียคาแรคเตอร์ความเป็นเบียร์ไป รวมถึงคาแรคเตอร์จากกาแฟที่รุนแรงอาจจะกลบกลิ่นรสที่ดีจากวัตถุดิบและคาแรคเตอร์จากการหมักไป จึงอาจจะต้องมีการลองผิดลองถูกหลายครั้ง กว่าจะได้จุดที่พอดีระหว่างรสชาติของวัตถุดิบต่างๆ
ในโลกของเบียร์ทางเลือกอย่างคราฟท์เบียร์นอกจากการใส่กาแฟแล้ว ยังมีการใช้วัตถุดิบอื่นใส่เข้าไปในเบียร์อีกหลายอย่าง และในหลายประเทศการใส่ พืชผัก หรือการใส่เครื่องเทศในเบียร์ กลายเป็นเบียร์ประจำท้องถิ่นหรือประจำเทศกาลไป ประเทศไทยของเรา ถ้าสามารถลองผิดลองถูกกับวัตถุดิบในท้องที่และสามารถส่งไปขายในวงกว้างได้ คงเป็นการช่วยคนในท้องที่และพี่น้องเกษตรกรกันอีกทางหนึ่งครับ
สุดท้ายขอฝากแบบทุกครั้ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรดื่มในปริมาณที่ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย ดื่มแล้วไม่ควรขับยานพาหนะ ช่วยกันดื่มอย่างรับผิดชอบต่อตัวเองและรับผิดชอบต่อสังคมนะครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า
Cheers🍺
SPACEMAN🚀
Drink Responsibly. SPACECRAFT #เพื่อความมั่นคงทางการดื่ม
Craft Beer Discovery #111 : Hazy IPA x Hazy Pale Ale - ความขุ่นแห่งโลกคราฟต์เบียร์
ในโลกแห่งคราฟต์เบียร์ เบียร์ในแบบ Hazy หรือเบียร์ที่ดูแล้วขุ่น กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ดึงดูดการรับรสของผู้ที่ชื่นชอบการดื่มเบียร์จากทั่วโลก จากรูปลักษณ์ที่ดูขุ่น ซึ่งแตกต่างกับความใสของเบียร์ลาเกอร์หรือเอลแบบอื่น และก็ให้ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสที่แตกต่างไม่เหมือนใครด้วย Fruit-forward ที่เข้มข้น ความ Juicy ของฮอปที่ให้ทั้ง Aroma และ Flavor ที่เข้มข้น เบียร์ในแบบ Hazy ใช้เวลาไม่นานในการสร้างสไตล์ใหม่อย่าง Hazy IPA และ Hazy Pale Ale ที่มาพร้อมกับความชื่นชอบของนักดื่มทั่วโลก
จุดแข็งของเบียร์ในแบบ Hazy ทั้ง Hazy IPA และ Hazy Pale Ale คือความเข้าถึงง่ายจากทั้งนักดื่มหน้าใหม่และนักดื่มหน้าเก่า ด้วยความขมที่ต่ำกว่า American IPA ทำให้นักดื่มที่ยังทนกับความขมไม่ได้ก็สามารถดื่มได้อย่างสบาย นอกจากความขมที่ต่ำแล้วคงเป็นเรื่องของคาแรคเตอร์ Fruit-forward ที่ใครๆได้ดื่มแล้วก็สดชื่น
ความขุ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ Hazy beer ไม่ได้เป็นเพียงรูปลักษณ์ที่แปลกตาเท่านั้น แต่มันเป็นผลมาจากความรู้ทางเคมีที่ซับซ้อนซึ่งตั้งใจเลือกวัตถุดิบที่มีค่าโปรตีนสูง ที่ทำให้เกิดการแขวนลอยของอนุภาคโปรตีนขนาดเล็กรวมกับอนุภาคโพลีฟีนอลที่เขาไปผสมอยู่ในความขุ่นที่เห็น อนุภาคเหล่านี้ได้มาจากมอลต์และฮอป จนทำให้เกิดความขุ่นที่โดดเด่นซึ่งทำให้เบียร์ในแบบ Hazy beer นั้นดูแตกต่างออกไป และแม้ภายนอกจะดูคล้ายกัน แต่ก็มีเบียร์หลายสไตล์ที่มีความขุ่น โดยแต่ละสไตล์ก็จะมีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป แต่เบียร์ขุ่นสไตล์ที่มีความโดดเด่นมีดังนี้
Hazy IPA
Hazy IPA หรือที่รู้จักกันในชื่อ New England IPA (NEIPA) เป็นรูปแบบหนึ่งของ IPA ที่มีต้นกำเนิดใน New England หรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ในช่วงต้นปี 2010 Hazy IPA ขึ้นชื่อจากรูปลักษณ์ที่มีความขุ่น พร้อมกับ flavor และ aroma จากฮอปที่เข้มข้น ที่นำมาด้วยความ fruity tropical ที่เป็นตัวนำ ตามมาด้วยความครีมมี่พร้อมรสชาติและรสสัมผัสที่นุ่มนวล
Hazy Pale Ale
Hazy Pale Ale เป็น Pale Ale สไตล์หนึ่งที่คล้ายกับ Hazy IPA แต่มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่าและมีความขมน้อยกว่า Hazy Pale Ale ก็โด่ดเด่นด้วยลักษณะของความขุ่น ที่มาพร้อมกับ flavor และ aroma ของฮอปที่เข้มข้น ที่มาพร้อมกับความ fruity tropical พร้อมความครีมมี่และรสสัมผัสที่นุ่มนวล Hazy Pale Ale เป็นสไตล์ใหม่ที่เริ่มเห็นกันมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และบางส่วนได้เข้ามาแทนที่ American Pale Ale สมัยใหม่
รสชาติของเบียร์ในกลุ่ม Hazy นั้นจะคล้ายกันในด้าน Fruit-forward ที่จะมี Aroma และ Flavor จากฮอปเป็นจุดเด่น ด้วย American Hop, New World Hop และที่เป็นกระแสล่าสุดคือ New Zealand Hop โดยเบียร์ในแบบ Hazy จะให้กลิ่นรสได้ตั้งแต่ความ Citrus, Tropical Fruit, Stone Fruit และ Berry โดยฮอปสายพันธุ์หลักที่มักจะเอามาใช้ในเบียร์ในแบบ Hazy ถ้าเป็นกลุ่ม American Hop ก็เช่น Citra, Mosaic, Simcoe, El Dorado, Idaho 7, Amarillo หรือถ้าเป็น New World Hop หรือ New Zealand Hop ก็เช่น Nelson Sauvin, Galaxy, Vic Secret, Nectaron, Superdelic
นอกจากจะมี Aroma และ Flavor จากฮอปแล้ว ความ creamy ที่มาจากการผสมผสานมอลต์และ flaked ชนิดต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มอนุภาคโปรตีนที่เมื่อไปผสมกับยีสต์สายพันธุ์ที่ช่วยทำให้เบียร์ขุ่นอย่างเช่น Fermentis S-04, Lallamand Verdant หรือ Whitelab London Fog แล้วออกมาขุ่น รวมถึงการใช้น้ำที่มีความกระด้างต่ำทื่ตรงข้ามกับน้ำที่ใช้ทำ American IPA ทำให้ได้เบียร์ IPA ที่มีรสชาตินุ่มนวล
Hazy Beer คืออีกหนึ่งวิวัฒนาการที่ต่อเนื่องจากความต้องการแสวงหาความอร่อยแบบใหม่ๆ ที่มาจากการลองผิดลองถูก ทุ่มเท และหมกมุ่น เพื่อนๆได้ลองดื่ม Hazy IPA หรือ Hazy Pale Ale แล้วมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ ว่าชอบเพราะอะไร
สุดท้ายขอฝากแบบทุกครั้ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรดื่มในปริมาณที่ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย ดื่มแล้วไม่ควรขับยานพาหนะ ช่วยกันดื่มอย่างรับผิดชอบต่อตัวเองและรับผิดชอบต่อสังคมนะครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า
Cheers🍺
SPACEMAN🚀
Drink Responsibly. SPACECRAFT #เพื่อความมั่นคงทางการดื่ม
🌎SPACECRAFT TERRA🌎 เสื้อยืดที่ช่วยลดขยะพลาสติกโดย SPACECRAFT🚀
เสื้อยืดสำหรับผู้ที่รักอวกาศ🪐และรักษ์โลก🌎 ผลิตจากเส้นด้ายรีไซเคิลที่ทำมาจากขวด PET เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก โดยมีการเสริม Cotton บางส่วนเพื่อความใส่สบาย
ด้วยการออกแบบสไตล์ minimal ที่มาพร้อมกับเนื้อผ้าที่ใส่สบายไม่ร้อน จึงสามารถใส่ได้บ่อยในประเทศที่มีอากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา
เสื้อยืดรักษ์โลกจาก 🌎SPACECRAFT TERRA🌎 เปิดให้ Pre-order แล้ววันนี้ ทาง inbox และ ทุกช่องทางติดต่อ มีให้เลือก 5 แบบ
T1B: SPACECRAFT
T2B: FREEDOM
T3B: DISCOVERY
T4B: STARSHIP
T6B: SPACELINER
T7B: EVENT HORIZON
ขนาดมาตรฐานราคา 490.- ขนาดใหญ่พิเศษราคา 510.- ค่าส่ง 50.- สั่ง 3 ตัวขึ้นไปส่งฟรี🏣
อนาคตด้านอวกาศรวมถึงการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของเราทุกคนนะครับ🙏
Be an Explorer🚀
SPACECRAFT
แม้พายุจะเข้า แต่เราก็มุ่งทำของเล่นต่อไป😂
Craft Beer Discovery #110 : Barriers to Entry :
อุปสรรคในการเริ่มธุรกิจเบียร์
การทำธุรกิจเบียร์ ในแบบผู้ผลิตเบียร์ทางเลือกหรือที่เราเรียกกันว่าคราฟท์เบียร์ ในต่างประเทศถือว่าเป็นธุรกิจในแบบ SMEs ที่ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น และยังเป็น Tourist Destination ที่ชวนให้นักท่องเที่ยวที่ชอบดื่มเบียร์เดินทางเข้ามาพบประสบการณ์ที่สดใหม่
แต่เมื่อเราพูดว่าธุรกิจ ทุกธุรกิจคงต้องมีการลงทุน และธุรกิจแต่ละแบบคงอยู่ในกฎหมายข้อต่างๆที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าเป็นธุรกิจเบียร์ละเราต้องทำยังไง? การขออนุญาติผลิตสุราแช่ประเภทเบียร์ในประเทศของเรามี 3 แบบ คือในแบบ homebrew, brewpub และ brewery ขอให้ข้อมูลตามที่เข้าใจนะครับ ถ้ามีผิดตรงไหนฝากแจ้งผมด้วย พอดีมีการเปลี่ยนกฎหมายบางรอบที่ผมอาจจะข้ามไป
แบบ Homebrew
เบียร์ในแบบ homebrew เราสามารถผลิตแบบถูกกฎหมายได้ด้วยการขออนุญาติ ที่จะสามารถผลิตได้ไม่เกินปีละ 200 ลิตร การทำ homebrew เริ่มทำได้ไม่ยากไม่ได้ใช้การลงทุนที่สูง แต่เบียร์ที่ผลิตออกมาแล้วกฎหมายส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศจะห้ามจำหน่าย การเริ่มทำ homebrew อาจจะไม่ได้สร้างรายได้สำหรับบางคน แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สำหรับวันที่เราจะลงทุนทำเบียร์ที่ถูกกฎหมายต่อไป
การลงทุนในการผลิต homebrew ก็คงต้องมีอุปกรณ์พวก หม้อต้ม ที่อาจใช้ไฟฟ้าหรือเป็นก๊าซก็ได้ ถังหมัก เครื่องควบคุมความเย็น รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ การทำ homebrew ในระดับ 50 ลิตร ต้นทุนของอุปกรณ์แบบที่ใช้งานได้ดีอาจจะจบที่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป แต่ก็มีหลายอุปกรณ์ หลายแบรนด์ทำออกมาด้วยของที่เกรดที่ดีมากๆ ราคาสูงต้นทุนก็จะพุ่งขึ้นไปอีกมาก
แบบ Brewpub
Brewpub คือการผลิตเบียร์แล้วสามารถขายในสถานที่ผลิตได้เท่านั้นโดย “ห้ามบรรจุออกไปขายข้างนอก” ก่อนหน้านี้เคยมีกำหนดการผลิตขันต่ำ 1 แสนลิตรแต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี ที่ตอนนี้ไม่มีกำหนดแล้ว การจะเปิด brewpub ให้ได้เบียร์ที่ได้มาตรฐานคงต้องดูที่ ความรู้ความเข้าใจและเครื่องมือที่ในการผลิต ว่าคุณภาพใช้ได้แค่ไหน ด้านสถานที่ก็ต้องเลือกสถานที่ๆ สามารถขออนุญาติได้ และสามารถมีลูกค้ามาแวะเวียนมากพอที่จะสามารถขายเบียร์ที่เราผลิตได้อย่างต่อเนื่อง การจะบริหาร brewpub ให้รอดคงต้องใช้ฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ในการครองใจนักดื่ม
การลงทุนใน brewpub ขอไม่พูดถึงต้นทุนค่าสถานที่และการแต่งร้าน เพราะอยู่ที่รสนิยมและสถานที่ที่เปิด ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตเบียร์ ที่เห็นกันมีขนาด 200 ลิตรขึ้นไป อุปกรณ์ที่ brewpub ต้องใช้จะใกล้เคียงกับ brewery แต่จะไม่มีไลน์บรรจุขวดหรือกระป๋อง ปัจจุบันมี brewhouse และอุปกรณ์การผลิตอื่นๆจากประเทศจีนให้เลือกมากขึ้นที่ราคาที่ค่อนข้างดี แต่รวมๆไปค่าเครื่องมือคงจบแถวๆ 3-5 ล้านบาท ไม่รวมค่าร้านค่าที่ ที่รวมๆแล้วคงอยู่ที่ประมาณเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป
แบบ Brewery
Brewery คือใบอนุญาติที่สามารถผลิตเบียร์แบบบรรจุขายได้ ใบอนุญาติใบนี้คือความฝันของคนทำเบียร์ในไทยและทั่วโลก การจะมีโรงเบียร์ของตัวเองในไทย ยังมีหลายเรื่องที่เป็นอุปสรรค ทั้งด้าน กฎหมายโรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงเลือกสถานที่ๆสามารถหาแหลงน้ำคุณภาพมาใช้ได้ โรงเบียร์ในขนาดที่เล็กเกินไปก็จะติดเรื่อง economy of scale ที่ไม่สามารถทำราคาให้ต่ำได้ และการจะผลิตเบียร์ออกมาให้ขายได้คงต้องมีการสร้างแบรนด์ให้นักดื่มรู้จักและพร้อมจะอุดหนุน เพราะเบียร์ที่ออกมาถ้าขายไม่ได้ก็คงไปต่อลำบาก
ระบบที่ใช้ในการผลิตเบียร์ในแบบ Brewery ในไทยคงต้องเลือกจากขนาดที่ต้องการเข้าไปแข่งขัน ถ้าจะทำโรงคราฟท์เบียร์ ควรมี brewhouse ขนาด 1,200 ลิตร, 3,500 ลิตร ไปจนถึง 5,000 ลิตร และมี fermenter ในขนาดที่สามารถขยายได้อีกต่อหนึ่ง เช่นต้ม 5,000 ลิตร 2 รอบเพื่อใส่ fermenter 10,000 ลิตร หรือต้ม 4 รอบใส่ในถัง 20,000 ลิตร หรือถ้าจะผลิตในแบบโรงใหญ่จริงๆ ระบบการผลิตเราคงต้องคุยกันที่หลักแสนลิตรต่อการต้ม 1 ครั้ง กับถังหมักขนาดหลายแสนลิตร รวมถึงสิ่งที่สำคัญไม่ต่างจากระบบต้มกับหมักคือไลน์บรรจุที่ต้องมีคุณภาพดี ที่บรรจุในแบบออกซิเจนต่ำ
การลงทุนทำ brewery เริ่มตั้งแต่ต้องของใบ รง 4 กับทำเรื่อง EIA สิ่งแวดล้อมที่น่าจะใช้เงินหลายล้าน เครื่องไม้เครื่องมือในการผลิต, การหมักรวมถึงการบรรจุ น่าจะ 300 ล้านบาทขึ้นไป คนทำเบียร์ธรรมดาคงไม่มีใครมีเงินขนาดนี้เท่าไหร่ คงต้องหาคนมาร่วมทุน หรือหานายทุนมาเสริม
มาต่อที่ด้านกฎหมายกันบ้าง ที่ประเทศเรามีกฎหมายที่ห้ามโฆษณา และห้ามส่งเสริมการขายที่เรียกว่ามาตรา 32 อยู่ ทำให้เบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นที่เป็นผู้ผลิตรายใหม่ ยากที่จะทำให้นักดื่มรู้จัก เพราะใช้การสื่อสารออกไปในวงกว้างแบบการโฆษณาไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นอุปสรรคหลักจริงๆของการเกิด คราฟท์เบียร์ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ที่เป็น SMEs ในประเทศ
แต่ประเทศของเราที่เพิ่งเริ่มมีเบียร์ทางเลือกอย่างคราฟท์เบียร์กันมายังไม่ถึง 10 ปีคงต้องสู้กันต่อไปครับ เพราะประเทศอื่นกว่าจะได้แก้กฎหมายที่เอื้อต่อรายเล็กได้ใช้เวลาหลายสิบปี แต่พื้นฐานคือผู้ผลิตควรจะเข้าใจว่าเบียร์ที่ดีคืออะไรก่อน และพยายามสร้างสินค้าให้ออกมาดีที่สุด เพื่อความยั่งยืนของสินค้าและแบรนด์
สุดท้ายขอฝากแบบทุกครั้ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรดื่มในปริมาณที่ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย ดื่มแล้วไม่ควรขับยานพาหนะ ช่วยกันดื่มอย่างรับผิดชอบต่อตัวเองและรับผิดชอบต่อสังคมนะครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า
Cheers🍺
SPACEMAN🚀
Drink Responsibly. SPACECRAFT #เพื่อความมั่นคงทางการดื่ม
แบ่งเป็นฤดูร้อน 98.7% ฤดูหนาว 1.3%
เหมาะจะกินเบียร์แหละ🍺
SPACECRAFT TERRA มาจากแนวคิด Terra-Reforming Program คือแบรนด์ใหม่ที่สินค้าจะเป็นของที่ทำจากวัสดุ Recycle ♻️ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะของโลก รวมถึงแผนก SPACECRAFT Thai Craft Beer ที่จะค่อยๆหันไปใช้ของที่ผลิตจากวัสดุ Recycle มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นอืกแรงในการช่วยลดปัญหาขยะในโลก
Merchandise ชุดแรกจาก SPACECRAFT TERRA คือเสื้อที่ผลิตจากขวด PET Recycle ที่ผสมกับ Cotton เล็กน้อยเพื่อเพิ่มความใส่สบาย
เสื้อจะเปิดให้ Pre-order ในสัปดาห์หน้า มี 2 สีใน 3 ทางเลือก ฝาก SPACECRAFT TERRA ไว้ด้วยครับ และมาช่วยกันลดปัญหาขยะของโลก
♻️♻️♻️♻️♻️♻️♻️♻️♻️
SPACECRAFT TERRA originates from the Terra-Reforming concept, a fresh brand dedicated to producing goods from recycled materials. Here at SPACECRAFT, we're gradually transitioning to utilizing eco-friendly materials to significantly reduce global waste.
Introducing our debut merchandise: a shirt crafted from numerous PET bottles blended with a touch of cotton (for added comfort). This eco-conscious shirt will be available for pre-order next week. Join us in supporting SPACECRAFT TERRA for a greener, more sustainable future.
♻️♻️♻️♻️♻️♻️♻️♻️♻️
มารอลุ้นเวลาปล่อยตัวกันอีกทีครับ🚀
SpaceX ได้รับอนุมัติจาก FAA ให้ทดสอบ Starship อีกครั้งในวันศุกร์นี้เป็นต้นไป
หลังจากที่มีข่าวก่อนหน้านี้มาว่า SpaceX เตรียมทดสอบยานอวกาศ Starship และจรวด Super Heavy อีกครั้งในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2023 (หรือวันศุกร์นี้) หลังจากที่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบสุดท้ายของ FAA ตอนนี้ SpaceX ก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า FAA ได้อนุมัติให้ Starship กลับมาขึ้นบินอีกครั้งได้แล้ว
สำหรับการทดสอบในรอบก่อน เดือนเมษายน 2023 ที่เป็นการขึ้นบินพร้อมกันครั้งแรกระหว่าง Starship และ Super Heavy นั้น ได้จบลงในลักษณะพลุไฟขนาดใหญ่ เนื่องจากความผิดพลาดทำให้จรวดหมุนมั่วบนท้องฟ้าก่อนที่ระบบ FTS หรือ Flight Termination System จะสั่งระเบิดตัวเองเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น
SpaceX ใช้เวลานานหลายเดือนในการปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาด หนึ่งในนั้นคือการปรับระบบควบคุมทิศทางจรวด Thrust Vector Control หรือ TVC จากเดิมที่ใช้ไฮดรอลิกมาเป็นเซอร์โวแบบไฟฟ้าแทน รวมถึงออกแบบระบบการแยกตัวระหว่าง Starship และ Super Heavy ให้เป็นแบบ Hot-Stagging คือการจุดจรวดของ Starship ก่อนในขณะที่ยังติดอยู่กับ Super Heavy และใช้แรงขับจาก Starship ในการปลดตัวเองจากจรวดท่อนแรก
Launch Window หรือช่วงเวลาสำหรับการทดสอบนั้น จะเริ่มต้นที่ประมาณสองทุ่มตรงตามเวลาประเทศไทย (8 a.m. ET) โดยมีระยะเวลาประมาณ 120 นาที หรือสองชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน SpaceX ยังไม่ได้ประกาศเวลาแน่ ๆ สำหรับทำการทดสอบ เนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ต่อให้ SpaceX ประกาศ Launch Window ออกมา แต่เวลาปล่อย หรือ T-0 ก็อาจถูกเลื่อนไปมาได้
ทั้งนี้คนที่ไปรอชม ณ ฐานปล่อย Starbase ทางตอนใต้ของเท็กซัสนั้น อาจจะต้องรอนานมาก ๆ จากเวลาที่ไม่แน่นอนดังกล่าว
สรุปแผนทดสอบ Starship และ Super Heavy อีกครั้งพฤศจิกายน 2023 https://spaceth.co/starship-test-flight-2-information/
Website - https://spaceth.co/
Blockdit - https://blockdit.com/spaceth
YouTube - https://www.youtube.com/spacethco
Facebook - https://facebook.com/spaceth
Twitter - https://twitter.com/spacethnews
IG - https://instagram.com/spaceth.co
Craft Beer Discovery #109 : The Story of Draft Beer
การกำเนิดของเบียร์สดนั้นเกิดมาคู่กับประวัติศาสตร์ของเบียร์มานานหลายศตวรรษ โดยมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมด้านเบียร์ของชาวยุโรป ผู้ผลิตเบียร์ในยุคแรกมักจะบ่มเบียร์ไว้ในถังที่เก็บไว้ในห้องใต้ดิน (Cellar) ที่มักจะอยู่ใต้ร้านเหล้า ในการเสิร์ฟ พวกเขาจะใช้แรงโน้มถ่วง ปล่อยให้เบียร์ไหลจากถังเก็บลงมาผ่านจาก Tap วิธีการขั้นพื้นฐานนี้ คือต้นกำเนิดและเป็นการวางรากฐานสำหรับสิ่งที่จะกลายเป็นศิลปะและวิทยาการแห่งเบียร์ในแบบสดในปัจจุบัน
เมื่อวัฒนธรรมการผลิตเบียร์ได้พัฒนาขึ้น ระบบเบียร์สดก็ได้รับการพัฒนาขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเบียร์หลังการผลิตไม่ถูกกับออกซิเจน และก๊าซที่เกิดในการหมักคือคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างแรงดันในการเสิร์ฟ ตามมาพร้อมกับระบบทำความเย็น ที่ต่อมาได้เปลี่ยนวิธีการเสิร์ฟเบียร์ไปตลอด ในศตวรรษที่ 20 ระบบถังเบียร์สด (Keg System) ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยปฏิวัตการให้บริการเบียร์ในรูปแบบเบียร์สด ถัง keg ซึ่งได้รับแรงดันด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยให้สามารถส่งเบียร์จากโรงเบียร์ไปจนถึง Beer Tap ที่ใช้เสิร์ฟได้อย่างมีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอยิ่งขึ้น
ถ้าพูดถึงเบียร์สด เราคงต้องพูดถึงการรินเบียร์ด้วย
เพราะการรินเบียร์ถือเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง และการเทเบียร์ให้สมบูรณ์แบบนั้นต้องอาศัยความสามารถอันละเอียดอ่อนระหว่างบาร์เทนเดอร์, Tap System และแก้ว การเลือกใช้แก้วส่งผลต่ออรรถรสและอโรม่าของเบียร์ เบียร์แต่ละสไตล์มักจะมีแก้วที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อเพิ่มอรรถรสในการดื่ม แก้วที่สะอาดรวมถึงองศาการรินที่ถูกต้องที่ช่วยลดการกระแทกของเบียร์กับก้นแก้ว ช่วยทำให้เบียร์เสิร์ฟออกมาได้ภาพลักษณ์ และฟองที่สวยงามน่าดื่ม
อุปกรณ์ที่ใช้ในระบบเบียร์สด ประกอบด้วย keg เบียร์, สายเบียร์, สายก๊าซ, Beer Coupler, ถัง Co2 พร้อม Regulators ที่ใช้ปรับแรงดันและ หัวจ่ายเบียร์ (Beer tap)
Beer Coupler คืออะไร?
Beer Coupler คืออุปกรณ์ที่เอาไว้เชื่อมต่อระหว่างถังเบียร์กับระบบเบียร์สด โดยจะเป็นอุปกรณ์ที่สามารถกดเพื่อ jump เบียร์ได้ โดยจะมีท่อสำหรับดัน Co2 ให้เข้าถัง และมีท่อสำหรับให้น้ำเบียร์ไหลออกจากถังไปยังระบบเบียร์สดที่เบียร์ออกทางแทป Beer Coupler มีหลายแบบโดยจะเรียกเป็น Type ที่เห็นบ่อยๆจะเป็น A type, D type, G type, S type และ Keykeg type
ส่วนถังเบียร์สดที่เราพบกันบ่อยๆที่บาร์อาจแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือแบบ Returned keg และแบบ One-way keg
ถังแบบ Returned keg คือถังที่จะถูกส่งกลับไปยังโรงเบียร์หลังจากที่เสิร์ฟหมดแล้ว โดยทั่วไป Returned keg จะทำจากสแตนเลสและได้รับการออกแบบให้นำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง โรงเบียร์จะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อถังที่ส่งคืนก่อนที่จะเติมเบียร์ใหม่ลงไป ถังแบบ Returned keg ที่นิยมใช้และเราพบได้บ่อยๆมีดังนี้
Cornelius kegs (corny kegs) ผลิตจาก Stainless มีความจุ 5 แกลลอนหรือ 18.9 ลิตร เป็น keg ที่นิยมที่สุดสำหรับ homebrewer ที่ coupler อาจจะมีทั้งแบบ pin lock และ ball lock ใช้งานง่ายแข็งแรง
Sixth barrel kegs (sixtels) เป็น keg ยอดนิยมสำหรับ Brewpub มีความจุ 5.16-5.23 แกลลอน หรือประมาณ 19.5 ลิตร ใช้งานง่าย แข็งแรง
Quarter barrel kegs (ponies) เป็น keg ที่เราจะเห็นบ่อยๆในร้านที่ขายเบียร์สดจากโรงเบียร์ขนาดใหญ่ มีความจุ 7.75 แกลลอน หรือ 29 ลิตรกว่าๆ เป็น keg ที่แข็งแรงมากๆ
ส่วนถังแบบ One-way keg คือถังที่ไม่ได้ออกแบบมาให้นำกลับมาใช้ซ้ำได้ One-way keg มักทำจากพลาสติก และมีราคาถูกกว่าถังในแบบ Returned keg ถังในแบบ One-way มักใช้ในโรงเบียร์ที่จำหน่ายเบียร์ไปยังตลาดห่างไกล เนื่องจากสามารถรีไซเคิลหรือกำจัดทิ้งได้หลังจากที่เสิร์ฟเบียร์หมดแล้ว
ถังในแบบ One-way ปัจจุบันก็มีผู้ผลิตหลายรายในหลายเทคโนโลยี มีแบบที่เบียร์สัมผัสกับ Co2 โดยตรง กับเบียร์ถูกดันออกเสิร์ฟผ่านการบีบถุงใน keg โดยที่แบรนด์ของถังที่เราเห็นบ่อยก็จะมีแบรนด์ Petainer กับ Keykeg
Petainer เป็น keg สีน้ำตาลกัน UV ที่มาในหลายขนาดตั้งแต่ 15-30 ลิตร ผลิตจากพลาสติก PET Petainer เป็น keg ที่ได้รับความนิยมสูงที่มาในราคาพอรับได้ หลักการทำงานของ Petainer คือใช้ Co2 ดันน้ำ
เบียร์ “แบบสัมผัสกับน้ำเบียร์โดยตรง” เพื่อดันออกทางท่อเสิร์ฟ ข้อเสียคือ เนื่องจาก Co2 จะสัมผัสกับน้ำเบียร์โดยตรงที่ร้านจึงควรปิดวาล์ว Co2 เมื่อไม่ได้ใช้งาน เพราะ Co2 กับ ความเย็นในการเก็บถังอาจทำให้เบียร์ Over Carbonation ได้
Keykeg เป็นถังใส ที่ข้างในมีถุงกันแสงสำหรับใส่เบียร์อีกที ตัวถังทำจากพลาสติก PET เช่นกันมาในขนาด 10-30 ลิตร Keykeg ก็เป็นถังที่ได้รับความนิยมสูงเพราะเทคโนโลยีถุงข้างในที่ช่วยทำให้เบียร์สดมี shelflife นานขึ้น หลักการทำงานของ Keykeg คือใช้ Co2 ดันอากาศนอกถุงเพื่อบีบถุงให้เบียร์ออกมา เป็นถัง “แบบ Co2 ไม่สัมผัสน้ำเบียร์โดยตรง” ทำให้ปัญหาจาก Co2 น้อยกว่า ข้อเสียคือมีราคาสูงกว่า
ในวงการคราฟท์เบียร์มักนิยมใช้ One-way keg กันมากกว่า และคราฟท์เบียร์เป็นเบียร์ที่ใส่วัตถุดิบแบบจัดเต็ม ทำให้เบียร์จะไม่ค่อยผ่านการ filter และ pasteurized เท่าไหร่ เบียร์สดของคราฟท์เบียร์รวมถึงเบียร์ในแบบ homebrew จึงควรเก็บในที่เย็นโดยตลอดพี่ๆน้องๆชอบเบียร์แบบสดหรือแบบกระป๋องมาเล่าให้ฟังบ้างนะครับ ส่วนถัง keg เดี๋ยวผมทิ้งลิงค์ไว้ให้ในคอมเมนต์ เผื่อไปหามาลองเล่นกันครับ
สุดท้ายขอฝากแบบทุกครั้ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรดื่มในปริมาณที่ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย ดื่มแล้วไม่ควรขับยานพาหนะ ช่วยกันดื่มอย่างรับผิดชอบต่อตัวเองและรับผิดชอบต่อสังคมนะครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า
Cheers🍺
SPACEMAN🚀
Drink Responsibly. SPACECRAFT #เพื่อความมั่นคงทางการดื่ม
ศุกร์นี้ถ้าทุกอย่างไม่ผิดพลาด SpaceX จะทำการทดลองปล่อยตัว Starship Super Heavy ยานอวกาศที่ทรงพลังที่สุด เป็นยานต้นแบบที่จะพามนุษยชาติไปดาวอังคาร รอชมด้วยกันนะครับ
STARSHIP - Interstellar Pale Ale
หาได้ที่คราฟท์บาร์และ Tops นะครับ😬
Craft Beer Discovery #108 : Czech Republic🇨🇿
ต้นกำเนิดแห่งพิลส์เนอร์
สาธารณรัฐเช็ก🇨🇿เป็นประเทศหนึ่งในแถบยุโรปตอนกลาง เป็นประเทศที่ถือว่าเป็นสวรรค์สำหรับคนรักเบียร์🍺 เพราะเช็กเป็นอีกประเทศที่มีประวัติศาสตร์ในด้านการผลิตเบียร์มาอย่างยาวนาน เบียร์ของประเทศนี้เป็นเบียร์ที่โด่งดังระดับโลก โดยเฉพาะสไตล์พิลส์เนอร์ที่ได้รับความชื่นชมจากคนทั้งโลก
Bohemia และ Moravia ดินแดนที่ปัจจุบันคือสาธารณรัฐเช็กมีประวัติศาสตร์การทำเบียร์ (Pivo)🍺 มายาวนาน ตั้งแต่ยุคก่อตั้งศาสนสถานบีเชฟนอฟ (Břevnov Monastery) ในช่วงปี ค.ศ. 993 โดยเมืองเบอร์โน (ˈbr̩no) ได้รับสิทธ์ในการผลิตเบียร์ในช่วงศตวรรษที่ 12 และต่อมา เมืองพิลเซ่น (Plzeň) และเมืองเชสเก้ บูดเดโจวิช (České Budějovice) ได้เริ่มมีโรงเบียร์ในช่วงศตวรรษที่ 13 เบียร์มาตรฐานของเช็กก็เป็นแบบเดียวกับที่ได้รับความนิยมทั่วโลกคือเบียร์ Pale Lager ในแบบ Pilsner และโรงเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดและโด่งดังไปทั่วโลกคือ Pilsner Urquell (Plzeňský prazdroj)
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมาการผลิตเบียร์กลายเป็นเรื่องที่แพร่หลายมากขึ้นในดินแดนเช็ก เมื่อถึงศตวรรษที่ 15 สาธารณรัฐเช็กก็มีชื่อเสียงในด้านการผลิตเบียร์ที่มีคุณภาพสูง และ Bohemian Hops ก็ได้รับการยอมรับจากผู้ผลิตเบียร์ทั่วยุโรป แม้การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ในเช็กจะถูกขัดขวางโดยสงครามสามสิบปี (ค.ศ. 1618-1648) ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง แต่อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ก็ฟื้นตัวขึ้นได้หลังสงคราม และเมื่อถึงศตวรรษที่ 18 เช็กก็ได้กลับมาเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อีกครั้ง หลังจากนั้นในช่วงศตวรรษที่ 19 อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ของเช็กมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากมาย รวมถึงการหันมาใช้การหมักแบบ Bottom-fermentation ซึ่งกระบวนการนี้ช่วยทำให้ได้เบียร์ที่ใสขึ้นและมี stability มากขึ้น ที่มาพร้อมกับการเก็บรักษาได้ยาวนานขึ้น และการเปลี่ยนแปลงนี้ก็นำไปสู่การผลิตเบียร์ในรูปแบบพิลส์เนอร์ โดยเบียร์พิลส์เนอร์ขวดแรกถูกผลิตในเมืองพิลเซ่นในปี 1842 โดย Pilsner Urquell โดยทางโรงได้จ้าง Brewer ชาวเยอรมันชื่อ Josef Groll ที่มีประสบการณ์ในการทำเบียร์ในแบบ Bavarian Lager มาช่วยพัฒนา จนต่อมาเบียร์ในแบบพิลส์เนอร์ได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เบียร์ในแบบของเช็กนั้นมีการใช้วัตถุดิบเฉพาะในการผลิต โดยหลักๆจะเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีคุณภาพสูง
ด้านมอลต์🌾
เบียร์ของเช็กใช้ Moravia Barley Malt ที่มีคุณภาพสูง มอลต์สายพันธ์ุนี้ได้ชื่อในเรื่องให้ starch ที่สูงและให้ protein ที่ต่ำ ที่เหมาะแก่การผลิตเบียร์
ด้านฮอป🍀
เบียร์ของเช็กจะใช้ฮอปสายพันธุ์ Saaz ที่เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นที่อยู่ในกลุ่ม Noble Hops ที่ถูกปลูกในท้องที่จาเท็ก (Žatec) เป็นฮอปที่ขึ้นชื่อด้านกลิ่นอโรม่าในแบบ Floral และให้ความขมที่นุ่มนวล
ด้านน้ำ💧
เบียร์ของเช็กจะผลิตจากน้ำที่อ่อน ที่มีแร่ธาตุต่ำ น้ำที่อ่อนช่วยให้เบียร์มีรสชาติที่นุ่มนวล และช่วยทำให้คาแรคเตอร์จากมอลต์และฮอปเด่นชัดขึ้น
ด้านยีสต์🍺
เบียร์ของเช็กจะใช้ยีสต์ลาเกอร์สายพันธุ์ของเช็กที่หมักในแบบ Bottom-Fermentation ที่รวมกันแล้วออกมาเป็นเบียร์ที่คลีน
ใน BJCP บรรจุเบียร์จากสาธารณรัฐเช็กเข้าไปอยู่ในหมวดที่ 3 Czech Lager โดยแบ่งเป็นสไตล์ย่อยได้ตามนี้
3A Czech Pale Lager
เบียร์ที่มีเนื้อเบียร์บาง รสเข้ม สดชื่น มีฮอปและความ ขม Czech Pale Lager มีรสชาติที่คุ้นเคยของเบียร์ Czech Premium Pale Lager (ประเภท Pilsner) แต่มีแอลกอฮอล์ที่ต่ำ กว่า เนื้อเบียร์บางกว่า และมีความเข้มข้นน้อยกว่าเล็กน้อย
3B Czech Premium Pale Lager
เบียร์ Czech lager สีอ่อนที่ดื่มแล้วสดชื่นด้วยมอลต์ และฮอปในปริมาณมาก มีรสสัมผัสที่ลากยาว เบียร์สไตล์ Pilsner ที่มีความซับซ้อนในรสชาติของมอลต์ ความขมสูงคลีนไม่มีความ กระด้าง มีความสมดุล รสเนียนดื่มได้ง่าย
3C Czech Amber Lager
เบียร์มอลต์ตี้สีเหลืองอำพันจากเช็ก ที่มีกลิ่นฮอปที่ กว้าง มีตั้งแต่ฮอปน้อยจนถึงฮอปชัด รสของมอลต์มีได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับการตีความและความสมดุล โดยมีได้ตั้งแต่จบแบบ dry, bready หรือ biscuity เล็กน้อย ถึง จบแบบหวานที่มีความรู้สึกถึง คาราเมล
3D Czech Dark Lager
เบียร์ lager จากเช็กที่มีมอลต์เข้มข้น ที่มาพร้อมมอลต์ คั่วที่ความคั่วมีตั้งแต่สัมผัสไม่ได้จนถึงคั่วชัดเจน มีความสมดุลจากมอลต์ที่โดดเด่น พร้อมด้วยระดับการใช้ฮอปที่หลากหลาย โดยสามารถจะมีคาแรคเตอร์ของ bread crusts, toast, nuts, cola, dark fruit หรือ caramel คาแรคเตอร์จากมอลต์คั่ว
จากการที่ได้ลองดื่มเบียร์ของเช็กมาทุกสไตล์ แม้จะเป็นสไตล์ลาเกอร์เหมือนกัน แต่คาแรคเตอร์จากฮอปกับมอลต์นั้นสมดุลและออกมาดีมากๆ แต่ด้วยความขมที่สูงและรสชาติที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ทำให้อาจจะไม่เป็นที่ชอบของนักดื่มบางคน ความโชคดีของคนไทยคือตอนนี้เบียร์เจ้าดังๆของเช็กมีขายในไทยแล้ว เพื่อนๆนักดื่มที่ได้มีโอกาสลองแล้วคอมเมนต์มาคุยกันได้นะครับ ว่ารู้สึกแบบไหนกันบ้าง
สุดท้ายขอฝากแบบทุกครั้ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรดื่มในปริมาณที่ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย ดื่มแล้วไม่ควรขับยานพาหนะ ช่วยกันดื่มอย่างรับผิดชอบต่อตัวเองและรับผิดชอบต่อสังคมนะครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า
Cheers🍺
SPACEMAN🚀
Drink Responsibly. SPACECRAFT #เพื่อความมั่นคงทางการดื่ม
ปีนึงดื่มกี่วันกันครับ🍺
Craft Beer Discovery #107 : Cleaning and Sanitizing : เพราะความสะอาดสำคัญที่สุด
ในการทำเบียร์ ความสะอาดคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ความสะอาดไม่ใช่เรื่องที่ยาก แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความใส่ใจ ตอนผมเริ่มทำ homebrewing โชคดีที่มีเพื่อนที่ทำด้วยกันเป็นหมอฟัน เลยถูกปลูกฝังด้านความสะอาดในแต่ละขั้นตอนมาโดยตลอด อุปกรณ์ในการทำเบียร์แต่ละขั้นตอนต้องการการทำความสะอาด (Cleaning) จากการล้างเหมือนกัน แต่บางขั้นตอนเราต้องเพิ่มการฆ่าเชื้อ (Sanitizing) เข้าไปด้วยโดนเฉพาะในขั้นตอนด้านเย็น
การทำความสะอาด (Cleaning) ไม่ใช่งานที่ยากลำบากอะไร เราเพียงแค่ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์เบียร์เหมือนที่เราล้าง จาน ชาม หม้อ ที่ใช้ทำอาหาร เพียงแต่อาจจะต้องระวังน้ำยาล้างจานที่อาจจะทิ้งสารเคลือบไว้บนเครื่องมือของเรา ที่อาจส่งผลต่อเบียร์ในภายหลัง หรือเราอาจจะใช้ผงสำหรับล้างที่ออกแบบมาสำหรับการทำเบียร์โดยเฉพาะ เช่น Powder Brewery Wash (PBW) ที่หาซื้อได้จากร้านที่ขายอุปกรณ์ทำเบียร์ทั่วไป ที่ถือว่าเป็นเคมีทำความสะอาดที่ได้มาตรฐานสูงสำหรับใช้กับอุปกรณ์เบียร์ การแช่อุปกรณ์ไว้ใน PBW ซักคืน คราบสกปรกก็จะหลุดออกมาโดยง่าย หรือเราอาจจะใช้สินค้าแบรนด์อื่นที่ให้ความสะอาดได้ในแบบเดียวกันก็ได้ลองถามร้านอุปกรณ์ทำเบียร์ที่ใช้ประจำดูครับ
การทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะหรือแก้ว เราสามารถออกแรงเพื่อทำความสะอาดได้ แต่อาจต้องระวังในอุปกรณ์ที่ทำจากพลาสติก เพราะการออกแรงขัดอาจทิ้งแผลที่มองไม่เห็นไว้บนผิว ที่อาจก่อให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียได้
ส่วนการฆ่าเชื้อ (Sanitation) คือการกำจัดเชื้อที่เราไม่ต้องการให้เหลือน้อยที่สุด ที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหากับความสะอาดในการหมักของเรา ในความเป็นจริงเราคงไม่สามารถทำให้ปลอดเชื้อได้ทั้งหมด เพราะอาจมีการสัมผัสจากเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศ ขั้นตอนการฆ่าเชื้อเรานิยมใช้ เคมีในการฆ่าเชื้อ ในปัจจุบันหาไม่ยาก เริ่มมีหลายยี่ห้อ มาในแบบ Acid-based หรือ Iodine-based ที่สามารถใช้ได้แบบไม่ต้องล้างออก
สารฆ่าเชื้อแบบ Acid-based ที่เราใช้กันบ่อยๆก็เช่น Star San ที่ผลิตมาจาก Food-Grade Acids หลายๆชนิดนำมาผสมกัน การใช้งานก็ไม่ยาก แค่เราทำละลาย Star San กับน้ำในอัตราส่วนที่แนะนำไว้บนขวด แล้วแช่อุปกรณ์ทิ้งไว้ให้ได้ตามเวลา Contact Time จากนั้นก็นำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องล้างน้ำอีกรอบ แต่ Star San เวลาใช้งานจะเกิดฟองขึ้นกับภาชนะของเรา ที่สร้างความกังวลทั้งกับ Brewer หน้าใหม่และหน้าเก่า แต่ถ้าเราผสม Star San ได้อัตราส่วนที่ถูกต้องนั้นควรจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆกับเบียร์ และ Star San เวลาผสมแล้วสามารถเก็บไว้ได้หลายวัน และบางทีเป็นเดือน แต่ต้องเก็บให้ห่างจากความร้อนและแสงแดด
หรือเราอาจใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อก็ได้ เพราะความร้อนก็เป็นสิ่งที่ช่วยฆ่าเชื้อที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง การต้มอุปกรณ์ในน้ำเดือดใช้เวลาไม่นานในการฆ่าเชื้อที่อยู่บนผิววัสดุ แต่ข้อควรระวังคือเราไม่ควรใช้ความร้อนกับอุปกรณ์ที่เป็นพลาสติก เช่น Airlock ความร้อนจึงควรใช้กับอุปกรณ์ที่เป็นโลหะหรือแก้วมากกว่า เช่น การต้ม Wort Chiller, ไม้กวนโลหะ หรืออื่นๆ ขวดแก้วที่เราใช้บรรจุเบียร์ หรือ Carboy แก้วที่ใช้ในการหมักก็เป็นสิ่งเหมาะสมที่จะใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อ ที่เราทำง่ายๆได้โดยการเอาขวดไปเข้าตู้อบ ตั้งอุณหภูมิไว้แถวๆ 180 องศาเซลเซียส ทิ้งไว้ซัก 1 ชั่วโมงจากนั้นรอให้เย็นแล้วเอามาแช่ sanitizer อีกทีก็จะพร้อมบรรจุเบียร์ได้
ส่วนในโรงเบียร์แบบอุตสาหกรรม การทำความสะอาดเราจะเรียกว่า Clean in Place หรือ CIP เป็นการล้างแบบระบบปิด เพราะอุปกรณ์หลายอย่างทั้งพวกถัง ท่อ ต่างๆเราคงไม่สามารถเอาทุกส่วนในระบบออกมาล้างได้ หลักการของการทำ CIP ในอุตสาหกรรมคือการใช้ กรด(Acid) และด่าง(Caustic) เข้าไปทำความสะอาดอุปกรณ์และท่อต่างๆ การใช้กรดและด่างเข้าไปทำความสะอาดเพราะ สองสิ่งนี้จัดการความสกปรกหรือคราบที่เกาะติดได้ต่างกัน การทำงานของ CIP คือการปั๊มป์เคมี กรดหรือด่าง ออกจากถังเก็บ ผ่าน Heat Exchanger เพื่อเพิ่มอุณหภูมิ จนสารได้ความร้อนที่ต้องการแล้วก็ส่งเข้าไปเวียนผ่านระบบท่อ ข้อต่อ และปั๊มป์ต่างๆ ในส่วนที่เป็นถัง ก็จะออกทาง Sprayball เพื่อล้างคราบ โดยความเร็วและความครอบคลุมพื้นที่ในการล้างขึ้นอยู่กับระบบของโรงและการออกแบบ แต่ทุกพื้นที่ในระบบที่เบียร์วิ่งผ่านควรจะได้รับการ CIP ทั้งหมด
สารเคมีที่ใช้ทำความสะอาดผ่านระบบ CIP ถ้าเป็นแบบ Caustic Soda หรือโซดาไฟ มักจะใช้ Sodium หรือ Potassium Hydroxide (NaOH หรือ KOH) ที่ความเข้มข้นระหว่าง 1%-4% และควรใช้ที่อุณหภูมิระหว่าง 50°C – 70°C โซดาไฟสามารถใช้สำหรับขั้นตอน CIP ได้เป็นเวลา 15 – 30 นาที โซดาไฟจะเป็นตัวช่วยจัดการคราบที่เกิดจากโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต เป็นสารที่มีราคาไม่สูง และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แต่ก็มีข้อเสียคืออาจก่อให้เกิด Beerstone ได้ และโซดาไฟเป็นสารที่มีความอันตราย ที่ต้องทำให้เป็นกลางก่อนจึงจะสามารถทิ้งได้ และโซดาไฟถ้ายิ่งใช้ในอุณหภูมิยิ่งสูงจะยิ่งให้ผลที่ดีมากขึ้น โรงเบียร์ในไทยเลยมักจะใช้กันที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียสขึ้นไป
สารอีกชนิดที่ใช้คือ Non-Caustic Cleaners ส่วนใหญ่จะผลิตจาก Sodium Carbonate และ Sodium Metasilicate ควรใช้สารเหล่านี้ในปริมาณความเข้มข้น 1-2 ออนซ์ ต่อน้ำ 1 แกลลอน และที่อุณหภูมิระหว่าง 20°C – 82°C โดยควรใช้ Non-Caustic Cleaners เป็นเวลาประมาณ 30 – 45 นาที ข้อดีของ Non-Caustic Cleaners คือ ไม่ก่อให้เกิด Beerstone สามารถกำจัดคราบโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตได้ดี สามารถใช้ได้ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า Caustic Soda และยังปลอดภัยต่อผู้ผลิตเบียร์มากกว่า
การทำความสะอาดและการและการฆ่าเชื้อ ส่งผล
อย่างมากต่อเบียร์ที่เราผลิตออกมา ทั้งด้านช่วยลดเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อและช่วยลด off-flavors ในเบียร์ แต่การทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ รวมถึงการทำ CIP โรงเบียร์ขนาดใหญ่ก็ไม่ได้ทำทุกครั้งหลักจบการผลิตแค่รอบเดียว เพราะหลายโรงผลิตกันต่อเนื่องหลายครั้งใน 1 วัน จนกระบวนการผลิตจบแล้วค่อยทำความสะอาด ส่วนชาว homebrew แบบเราๆที่ไม่ได้ต้มกันต่อเนื่อง ดั้งนั้นเราควรจะล้างอุปกรณ์ทุกอย่างทั้งก่อนและหลังใช้ผลิตเบียร์ ความใส่ใจเหล่านี้ทำให้เบียร์ของทุกคนออกมาดีขึ้นและเป็นการรับผิดชอบต่อนักดื่มที่เป็นลูกค้าของเราครับ
สุดท้ายขอฝากแบบทุกครั้ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรดื่มในปริมาณที่ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย ดื่มแล้วไม่ควรขับยานพาหนะ ช่วยกันดื่มอย่างรับผิดชอบต่อตัวเองและรับผิดชอบต่อสังคมนะครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า
Cheers🍺
SPACEMAN🚀
Drink Responsibly. SPACECRAFT #เพื่อความมั่นคงทางการดื่ม
Source:
Brewing Science
Craftbeer and Brewing
Click here to claim your Sponsored Listing.
Videos (show all)
Category
Website
Address
Washington D.C., DC
20546
Washington D.C.
SouthernGirl Homemade Cakes (SGHCakes) is a small business that bake delicious homemade bake goods f
Washington D.C.
We make American products, with American workers in America's hometowns.
Washington D.C.
Kalorama Cookie Company is a gourmet bakeshop specializing in hand-decorated, delicious sugar cookie
Washington D.C., 20004
A social supper club showcasing the beauty of the pairing of Sherry and Asian food.
20 F Street NW
Washington D.C., 20001
Request Your FREE 888 Lucky IPA Delivery to Your Doorstep via FEDEX in All 50 States of USA & Worldw