Guidance by KruDow บริการแนะแนวและให้คำปรึกษา

Guidance by KruDow บริการแนะแนวและให้คำปรึกษา

Contact information, map and directions, contact form, opening hours, services, ratings, photos, videos and announcements from Guidance by KruDow บริการแนะแนวและให้คำปรึกษา, Education, .

17/10/2019

..การพัฒนาบุคลิกภาพส่วนตัวและสังคมสู่การเป็นครู..

บุคลิกภาพเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผู้มีอาชีพครู เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความศรัทธา ความน่าเชื่อถือและประทับใจ ให้กับผู้เรียนผู้พบเห็น อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้การประกอบอาชีพครูบรรลุวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นคนที่เป็นครูที่ดี จึงต้องมีการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างสม่ำเสมอ และนอกจากนี้แล้วบุคลิกภาพยังเป็นระบบพฤติกรรมของบุคคล คือไม่เพียงแต่การแสดงออกให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างบุคลเท่านั้น แต่ยังแสดงตัวตนหรือเอกลักษณ์ของแต่ละคนอีกด้วย

สำหรับคนที่เป็นครู บุคลิกภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถือเป็นสิ่งแรกที่จะสร้างความประทับใจให้กันผู้เรียน ผู้พบเห็น ดังนั้นครูจึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีทุกด้าน แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ความสวย ความหล่อ ความดูดีในรูปลักษณ์ภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง อาทิ

1.บุคลิกทางกาย เช่นรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ถือเป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิด แก้ไขยาก แต่สามารถปรับปรุงพัฒนาได้ตามสมควร

2.บุคลิกภาพการแต่งกาย เป็นลำดับแรกที่นักเรียน ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไปมองเห็น จึงมีผลต่อการสร้างเจตคติที่ดีต่อตัวครู การแต่งกายของครูจึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานที่ ความนิยมของสังคมในโอกาสต่างๆ รวมทั้งเหมาะสมกับรูปร่าง และฐานะทางเศรษฐกิจ ราคาไม่แพงเกินความจำเป็น แต่เน้นเรื่องความสะอาดเรียบร้อย การวางตัวและกิริยามารยาทที่ดี

3.บุคลิกภาพทางสังคม เป็นแรงขับจากตัวของบุคคล ที่แสดงออกสู่สายตาสาธารณชน โดยเฉพาะคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม อาทิ ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ เป็นต้น

4.บุคลิกภาพทางอารมณ์ เป็นสิ่งที่อาจแสดงออกมาหรือไม่แสดงออกก็ได้ เช่น ครูที่มีอารมณ์ขัน จะทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นไปอย่างสนุกสนาน ครูที่มีอารมณ์ดี ทำให้ครูน่ารัก เด็กนักเรียนกล้าปรึกษาปัญหา ครูที่มีอารมณ์เย็น ทำให้ครูเป็นคนน่าคบหา ไม่วู่วาม มีเหตุผล ครูที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ทำให้ครูสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี และจะได้เปรียบในการดำเนินชีวิต การที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ถือได้ว่าเป็นบุคลิกภาพที่สำคัญที่สุดในทุกสายอาชีพ โดยเฉพาะสายอาชีพครู

5.บุคลิกภาพทางสติปัญญา เป็นเรื่องการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและมันสมอง แต่การศึกษาและสิ่งแวดล้อมก็สามารถช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของสติปัญญาได้ ครูจึงต้องรู้จักการแบ่งเวลาให้มีประโยชน์ ด้วยการเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์ ข่าวสารใหม่ๆให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลา (วิไล ตั้งจิตสมคิด,2544ข:136-138)


การพัฒนาบุคลิกภาพครู คือ การวิเคราะห์บุคลิกภาพของครูแต่ละคนว่าเหมาะสมเพียงใด เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ยังขาด หรือบกพร่องให้เป็นไปในลักษณะที่ปรารถนา ด้วยการฝึกฝนบุคลิกภาพทั้งด้านกาย อารมณ์ ด้านสังคม และสติปัญญาให้เหมาะกับการประกอบวิชาชีพครู

สำหรับวิธีการพัฒนาบุคลิกภาพ ต้องมีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ สอนดี มีความรู้ดี และประพฤติดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ครูต้องมีบุคลิกภาพดีด้วย ดังนั้นจึงมีวิธีการพัฒนาบุคลิกภาพครู 10 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 มั่นใจในตนเอง ครูต้องมุ่งมั่นพัฒนาบุคลิกด้วยใจเบิกบาน ขจัดความกลัว ขจัดปมด้อย เห็นคุณค่าตัวเราเอง

ขั้นที่ 2 มีไมตรีจิต ครูต้องรู้จักการให้ผู้อื่นก่อน ด้วยใจจริง จะทำให้ได้มิตรที่แท้จริงกลับมา หรือคนอื่นประทับใจเราอย่างที่เราประทับใจคนอื่น

ขั้นที่ 3 คล่องแคล่ว-ว่องไว ศึกษาบุคลิกบุคคลรอบข้างว่าเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร แล้วปรับตัวเอง ให้มีความคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง แต่ต้องรู้จักสัมมาคาราวะ

ขั้นที่ 4 ตรงต่อเวลา ครูต้องรักษาเวลา เพราะการรักษาเวลานัดหมายเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือไว้ใจ และเกรงใจจากผู้อื่น

ขั้นที่ 5 การควบคุมตัวเอง ครูต้องมีรูจักควบคุมอารมณ์ สติ ในการแก้ไขปัญหาอย่างชาญฉลาด

ขั้นที่ 6 รู้จักกาลเทศะ ครูต้องคิดเป็นว่าสิ่งไหนดี- ไม่ดี อะไรควรทำ- ไม่ควรทำ แล้วอะไรเหมาะ -ไม่เหมาะ และทำให้เกิดผลดี

ขั้นที่ 7 มธุรสวาจา ครูต้องมีทักษะการพูดที่ดี คือพูดดีมีสาระ จริงใจ ไพเราะ ประทับใจคนฟัง

ขั้นที่ 8 เอาใจเขามาใส่ใจเรา ครูคิดทำการใดต้องรู้จักประมาณใจคนอื่น(คิดว่าเราเป็นเขา เขาเป็นเรา)

ขั้นที่ 9 เสริมลักษณะทางกาย ครูต้องแต่งกายให้เรียบร้อย สะอาด และเหมาะสมกับกาลเทศะ มีมารยาทการออกสังคมที่ดี

ขั้นที่ 10 เติมเต็มชีวิตชีวา ครูต้องผสมผสานทั้ง10ขั้นตอนเข้าด้วยกัน แต่ให้เพิ่มความน่ารัก และความจริงใจที่ไม่แสแสร้งเข้าไปด้วย

สำหรับ บุคลิกภาพครูที่พึงประสงค์ ในพุทธศาสนากล่าวถึง สัตบุรุษ หมายถึง ผู้ที่มีความเห็นชอบตามธรรมนองคลองธรรม โดยยึดหลักคุณธรรม 7 ประการ ที่เรียกว่า ” สัปปุริสธรรม" ดังนี้ ธัมมัญญุตา รู้หลักรู้เหตุ อัตถัญญุตา รู้จักความมุ่งหมายและรู้จักผล อัตตัญญุตา รู้จักตน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ กาลัญญุตา รู้จักกาล ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคล (ตั้งจิตสมคิด,2544ค:138-142)

บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างความประทับใจ ความศรัทธา ความเชื่อมั่น ให้กับนักเรียน และผู้พบเห็น อีกทั้งยังเป็นสิ่งบ่งชี้เอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลอีกด้วย ดังนั้นครูจึงจำเป็นต้องมีบุคลิกภาพที่ดี เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ครูต้องพัฒนาบุคลิกภาพให้เหมาะสม โดยวิเคราะห์ตนเอง ปรับปรุงตนเอง ฝึกตนเอง และประเมินตนเอง

ทั้งนี้ลักษณะของครูที่ดีควรมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิชาชีพครู ครูต้องมีความศรัทธาในวิชาชีพครู และลักษณะครูไทยที่พึงประสงค์ควรมีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ มีความรู้ดี มีบุคลิกภาพดี และมีคุณธรรมจริยธรรม

18/09/2019

จะเป็นครูได้ต้องมีคุณลักษณะแบบไหน ?

คุณลักษณะของครูตามอุดมคตินั้นมีมากมาย แต่ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือ ความเป็นกัลยาณมิตร ซึ่งต้องมีกัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ แต่คุณสมบัติของครูดังกล่าวเป็นคุณสมบัติที่ได้จากคำสอนในพระพุทธศาสนา และมีความสอดคล้องกับความรู้สึกของคนไทยเรา ดังนั้น เพื่อให้นักศึกษา ครู และอาจารย์ทั่วไป ได้ทราบแนวความคิดของชาวตะวันตกที่มีต่อคุณลักษณะของครูตามอุดมคติว่า มีคุณลักษณะอย่างไรบ้างในที่นี้จึงขอนำความคิดเห็นของ เฮลซอง และ วีคส์ (Hessong and Weeks, 1987:457-463) ที่มีความเห็นว่าครูในอุดมคตินั้นควรมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
1. มีความรอบรู้
2. มีอารมณ์ขัน
3. มีความยืดหยุ่น
4. มีวิญญาณความเป็นครู
5. มีความซื่อสัตย์
6. มีความสามารถทำให้เข้าใจได้รวบรัดชัดเจน
7. เป็นคนเปิดเผย
8. มีความอดทน
9. กระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี
10. สามารถนำความรู้ทางทฤษฎีไปใช้ในทางปฏิบัติได้
11. มีความเชื่อมั่นในตนเอง
12. มีความสามารถพิเศษในศิลปะและวิทยาการหลายๆ ด้าน
13. แต่งกายเรียบร้อยสง่าผ่าเผยและมีสุขอนามัย
หลักในการทำงานที่ประสบความสำเร็จ ขอสรุปสั้นๆ คือ “ต้องเห็นคนรอบข้างมีความสุข ต้องการเห็นบรรยากาศในการทำงานเป็นไปอย่างรื่นรมย์ ทุกคนทำงานด้วยความเต็มใจ จะทำงานให้ได้ดี ต้องรักและศรัทธาในงานที่เราทำ มีหลักคิดในการทำงานว่า เราจะทำงานอะไร ทำเพื่ออะไร จะได้ประโยชน์อะไร และใช้อิทธิบาท 4 ในการทำงาน คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา (อย่าเกี่ยงงาน ทำใจให้รักงาน พากเพียรในการทำงาน มุ่งมั่นปรับปรุง พัฒนางานให้ดี) อย่ามุ่งแต่งานโดยละเลยคน และอย่ามุ่งแต่คนโดยละเลยงาน ต้องให้งานประสานกับคน ผลสำเร็จจึงจะเกิดขึ้น การทำอะไรก็ตามถ้าเราถอดหัวใจไว้กับสิ่งที่เราทำจะได้รับความสำเร็จเสมอ”

18/09/2019

อยากเป็นครูต้องเรียนคณะอะไร ?

การจะเป็นครูได้นั้น ต้องจบมัธยมศึกษาตอนปลายสายใดก็ได้ และเลือกเรียนในคณะครุศาสตร์ หรือ ศึกษาศาสตร์โดยเลือกหนึ่งวิชาเอก ที่เรามีความถนัดและต้องการจะสอนในอนาคต ซึ่งคณะครุศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายในการค้นหาวิธีการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้นและสร้างสรรค์สังคมอย่างแท้จริง โดยมีสาขาให้เลือกศึกษาได้ ดังนี้

สาขาการศึกษาปฐมวัย เป็นสาขาซึ่งเตรียมครูสำหรับการศึกษาของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ
สาขาประถมศึกษา เป็นสาขาซึ่งเตรียมครูสำหรับโรงเรียนระดับประถมศึกษา
สาขามัธยมศึกษา เป็นสาขาซึ่งเตรียมครูสำหรับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ทั่วไป จิตวิทยาและการแนะแนว เทคโนโลยีการศึกษา และภาษาอังกฤษ เป็นต้น
สาขาการสอนวิชาเฉพาะ เป็นสาขาซึ่งเตรียมครูวิชาเฉพาะ ได้แก่ พลศึกษา ศิลปศึกษา ดนตรีศึกษา ธุรกิจศึกษา สำหรับโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
สาขาการศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นสาขาเพื่อเตรียมครูและบุคลากรทางการศึกษานอกระบบโรงเรียน การเตรียมตัวก็ตามปกติ เพียงแต่เพิ่มวิชา PAT5 ความถนัดทางวิชาชีพครู ส่วนใหญ่เป็นข้อสอบวัดไหวพริบและจริยธรรมของครู
นอกเหนือจากนั้นยังสามารถแยกย่อยตามรายวิชาเอกได้ดังต่อไปนี้
สาชาวิชาธุรกิจศึกษา
สาขาวิชาศิลปศึกษา
สาขาวิชาดนตรีศึกษา
สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา
สาขาจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนวและการศึกษาพิเศษ
สาขาเทคโนโลยีการศึกษา
สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ศึกษา
สาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์
สาขาวิชาการสอนคณิตศาสตร์
สาขาวิชาธุรกิจและคอมพิวเตอร์ศึกษา
สาขาบริหารการศึกษา
สาขาวิชาการศึกษาผู้ใหญ่
สาขาวิขาการววัดผลและวิจัยการศึกษา
สาขาวิชาการอุดมศึกษา
สาขาวิขาอุตสาหกรรมศึกษา
โดยในแต่ละการเรียนการสอนจะมีวิชาที่เหมือนกัน คือ วิชาต่างๆที่เกี่ยวกับครู และจะค่อยแยกเรียนตามสาขาหลักของตนเอง หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือเรียนปริญญาตรีในด้านอะไรก็ได้ที่เรามีความสนใจ และไปต่อปริญญาโท ในด้านการศึกษาหรือการสอน ก็สามารถมาเป็นครูได้

เรียนครู ที่ไหนได้บ้าง?
คณะครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ มีเปิดในหลายๆมหาลัย ถ้าน้องๆอยากทราบว่ามีมหาลัยใดบ้าง สามารถเช็กได้ที่แอป TCASter ที่บอกรายละเอียดทุกคณะทุกมหาลัย พร้อมเกณฑ์การรับสมัครของแต่ละคณะ และแต่ละมหาลัยอย่างครบถ้วน
โหลดแอป TCASter ฟรี! ที่ >> http://bit.ly/2Prdgg4 หรือเสิร์ชคำว่า TCASter ในช่องค้นหา โหลดฟรี! ทั้ง iOS และ Android

ถ้าไม่ได้เรียนคณะที่เกี่ยวกับ “ครู” มาแต่อยากเป็น “ครู” มากๆๆ ต้องทำอย่างไร?
ถ้าหากเราไม่ได้จบครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ มาแต่อยากเป็นครู อาจจะต้อง

– ต้องเรียนและสอบมาตรฐานวิชาชีพครู 9 มาตรฐาน (โดยคุรุสภา)

– หลังจากที่ได้ใบอนุญาตสอน ก็สมัครเป็นครูตามโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนเอกชนที่ไม่ขอใบประกอบวิชาชีพ

– เมื่อสอนครบ 1 ปี และผ่านการประเมินการสอนแล้วก็จะสามารถขึ้นทะเบียนขอใบประกอบวิชาชีพครูได้ ซึ่งใบประกอบวิชาชีพนี้ต้องต่ออายุทุก 5 ปี

PAT 5 บททดสอบสำคัญสำหรับคนอยากเรียนครู
PAT 5 คือวิชาวัดความถนัดทางอาชีพครู ที่น้องๆ จะใช้ยื่นคะแนนที่คณะครุศาสตร์ หรือคณะศึกษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่เปิดรับ ข้อสอบ PAT 5 เป็นข้อสอบเฉพาะกลุ่มมากๆ ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ความรู้พื้นฐานที่จะเรียนต่อในคณะครุศาสตร์หรือคณะศึกษาศาสตร์ได้สำเร็จ เช่น ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เป็นต้น และส่วนที่สองคือ ความถนัดในการเรียนในคณะดังกล่าวให้สำเร็จ หรือการวัดแววความเป็นครูแบบที่สมัยก่อนเรียกกันนั่นเอง

18/09/2019

💙 อาชีพครู 💙
คือ อาชีพที่ใช้ความรู้ ถ่ายทอดความรู้ ด้วยวิธีการสอนและการจัดการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของตนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครูเป็นผู้ให้กำเนิดพลเมืองที่ดี คือ เป็นผู้ชุบพลเมืองให้เป็นนักรู้ นักทำงาน นักพูด นักเขียน นักตำรา นักประดิษฐ์ นักค้นคว้าเหตุผล นักวิชาการ ฯลฯ เป็นต้น

สถานที่ทำงาน
สถานที่ทำงานของคุณครูคือโรงเรียน ที่จะประกอบด้วย ห้องเรียน โรงอาหาร โรงยิม ห้องพักครู และบริเวณโรงเรียนทั้งหมด ซึ่งห้องพักครูจะเป็นห้องที่มีโต๊ะทำงานของคุณครู โดยแยกเป็นหมวดหมู่ของวิชา หรือ ระดับชั้นเรียนต่างๆแล้วแต่ข้อกำหนดของโรงเรียน การทำงานส่วนใหญ่แล้วแต่ความเหมาะสมของวิชานั้นๆว่าจะทำการเรียนการสอนที่ใด เช่น วิชาการ จะต้องเรียนในห้องเรียนของนักเรียนเอง หรือเป็นวิชาปฏิบัติต่างๆที่ต้องออกไปสอนนอกสถานที่ ตามความเหมาะสมของวิชานั้นๆ

สภาพการทำงาน
ขึ้นอยู่กับระดับชั้นที่สอน มีความแตกต่างกันเนื่องจากช่วงวัยของเด็ก ทำให้มีความยากง่ายทั้งเรื่องของเนื้อหา และเรื่องการควบคุมเด็กๆให้ตั้งใจเรียนและเชื่อฟังนั้น มีวิธีการที่แตกต่างกัน นอกเหนือจากจะต้องทำหน้าที่ในการสอนหนังสือให้เด็กๆได้รับความรู้มากที่สุดแล้ว ยังรวมไปถึงเรื่องการดูแลและให้คำปรึกษาเด็กๆเหมือนกับเป็นคนในครอบครัว การเป็นครูที่ปรึกษา ครูฝ่ายปกครอง หรือแม้แต่ครูประจำวิชา ทุกคนล้วนมีหน้าที่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ดูแลเด็กๆอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อเห็นว่าเด็กๆมีปัญหาไม่ว่าจะเรื่องการเรียนหรือเรื่องส่วนตัวก็เป็นหน้าที่ของคุณครูที่จะต้องอยู่ข้างๆเพื่อแนะนำและให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ

ประเภทของลูกค้า
ถ้าในอาชีพนั้นครูอาจจะไม่มีลูกค้า แต่เรียกว่าเป็นลูกศิษย์ ซึ่งลูกศิษย์มีความแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่ครูอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาจารย์มหาวิทยาลัย เนื่องจากความต้องการ วิธีการเรียนรู้ และทัศนะคติที่แตกต่างกันของเด็กๆ

1. คุณครูอนุบาล ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะเด็กๆจะมีพัฒนาการการเรียนรู้และจดจำต่างๆในวัยนี้ นอกจากนั้นเด็กๆยังต้องมีการปรับตัวมากในหลายๆเรื่อง ทั้งในเรื่องของการเข้าสังคม การเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ การปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ยังรวมไปถึงการที่ต้องดูแลในเรื่องอาหารการกิน ระมัดระวังในเรื่องการเล่นซน และการเข้าห้องน้ำ ทำให้คุณครูต้องเป็นคนที่ใจเย็น และมีจิตวิทยาการดูแลและสอนเด็กๆ ควรรู้ว่าเด็กคนไหน มีความต้องการหรือเรียนรู้ที่ดีในด้านใด ควรมีวิธีการและส่งเสริมให้พวกเขามีพัฒนาการด้านนั้นๆให้ได้มากที่สุด
2. คุณครูชั้นประถม ในแต่ละระดับชั้นของประถมก็มีความแตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วเด็กๆจะมีความซุกซน ตามวัย ชอบเล่นและทดลองอะไรใหม่ๆ มีนักเรียนในทุกๆแบบ ทั้งเรียบร้อยมาก ไปจนถึงดื้อมากแต่ยังถือว่าเป็นช่วงวัยที่ยังสอนได้ ดุแล้วฟัง และยังสามารถหาวิธีการในการที่จะทำให้เด็กๆมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้
3. คุณครูชั้นมัธยม เป็นวัยที่เตรียมตัวจะเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ต่อมต่างๆในร่างกายเริ่มทำงานอย่างเต็มที่ จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องของร่างกายและอารมณ์ กลุ่มเพื่อนเริ่มมีอิทธิพลในการตัดสินใจต่างๆ มีการเรียนรู้ค่านิยมของสังคม และเริ่มมีการค้นหาตัวเอง ซึ่งวัยนี้ถือได้ว่าเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นวัยที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของชีวิต ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและมีวิธีการที่เหมาะสม เพราะถ้าใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องหรือรุนแรงเกินไป อาจทำให้การเรียนการสอนนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ
4. อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษากำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ มีอิสระในการเลือกใช้ชีวิตและมีความคิดเป็นของตัวเอง พวกเขาจะตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆด้วยตัวเอง มีอิสระในการเรียน ระเบียบข้อบังคับต่างๆจะน้อยกว่าโรงเรียนมาก อาจารย์จึงมีบทบาทในชีวิตของนักศึกษาไม่มากเท่าไรนัก แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะที่สอน บางคณะอาจารย์มีอิทธิพลต่อนักศึกษามาก

อาชีพนี้ต้องทำงานร่วมกับอาชีพ/ตำแหน่งงานใดบ้าง
1. ผู้ปกครองของนักเรียน หากนักเรียนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่โรงเรียน ทั้งครูและครอบครัวก็มีหน้าที่หาทางแก้ไขปัญหานั้นให้คลี่คลาย
2. ครูพิเศษ การเรียนการสอนในบางวิชามีเนื้อหาเชิงลึกที่อาจจะต้องเชิญผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมาสอนเพิ่มเติม
3. กระทรวงศึกษา ต้องมีการประเมิณ และการปรับหลักสูตรต่างๆ ซึ่งครูแต่ละวิชาต้องทราบว่า วิชาของตนนั้นควรจะมีรูปแบบการเรียนการสอนไปในทิศทางใด
4. ครูใหญ่ ต้องมีการประชุมและวางแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้นักเรียนและโรงเรียนมีความก้าวหน้าไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

Career path/ความก้าวหน้าของสายอาชีพ
อาชีพครูมีการเลื่อนระดับขั้นแบบเดียวกับอาชีพรับราชการ คือจะมีการสอบเลื่อนระดับที่เรียกว่า ซี ยิ่งมีระดับ ซีที่สูงชึ้น ฐานเงินเดือนก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นอกเหนือจากนั้นยังสามารถทำผลงานและยื่นเพื่อเลื่อนระดับขึ้นไปได้ แต่หากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ต้องเรียนจบปริญญาโท และหากต้องการเลื่อนตำแหน่งและมีฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น ต้องเรียนต่อในระดับชั้นปริญญาเอกต่อไป

ผลตอบแทน
อัตราค่าจ้างในช่วงเริ่มต้นของครูนั้นจะแบ่งออกตามระดับการศึกษา ดังนี้
1. บุคคลที่มีคุณวุฒิปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี อันดับครูผู้ช่วย 15,050 บาท
2. ปริญญาตรี หลักสูตร 5 ปี อันดับครูผู้ช่วย 15,800 บาท
3. ประกาศนียบัตรบัณทิตที่มีหลักสูตรการศึกษาไม่น้อยกว่า 1 ปี ต่อจากวุฒิปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี อันดับครูผู้ช่วย 15,800 บาท
4. ปริญญาตรี หลักสูตร 6 ปี อันดับครูผู้ช่วย 17,690 บาท
5. ปริญญาโททั่วไป อันดับครูผู้ช่วย 17,690 บาท
6. ปริญญาโทที่มีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ปี ต่อจากวุฒิปริญญาตรีที่มีหลักสูตรกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี อันดับครูผู้ช่วย 18,690 บาท
7. ปริญญาเอก อันดับครูผู้ช่วย 21,150 บาท
แต่หากมีประสบการณ์ในการทำงานในสายอาชีพแล้ว จะมีระดับเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นตามอายุงาน และหากมีความสามารถเฉพาะทางก็จะมีค่าวิชาชีพเพิ่มเข้ามาด้วย

คุณค่าของอาชีพนี้ต่อคนรอบข้างและสังคม
อาชีพครูไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนหนังสือเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการอบรมและให้คำแนะนำแก่ลูกศิษย์ในทุกๆเรื่อง เด็กๆหลายคนมีปัญหาครอบครัว และเรื่องส่วนตัวต่างๆ ที่ในบางครั้งครูต้องลงไปแก้ไขปัญหานั้นด้วยตัวเอง วัยที่กำลังก้าวเข้าไปสู่วัยผู้ใหญ่เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะหากพลาดหรือเลือกเดินทางที่ผิดก็จะส่งผลกระทบต่อสังคมต่อไป ซึ่งในทางตรงกันข้ามถ้าเด็กๆเป็นคนดี มีความคิดที่ดี ก็จะส่งผลให้สังคมเป็นสังคมที่ดีได้ไม่ยาก

Website