เรียงร้อย ภาษาไทย
ภาษาไทย
คำเรียกชื่อแป้นต่าง ๆ ในแผงแป้นอักขระ (keyboard)
คีย์บอร์ด (keyboard) อุปกรณ์นำเข้าข้อมูลของเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่าน แป้น (key) ต่าง ๆ
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับชื่อของแป้นเหล่านี้กัน
๑. Esc key (Escape key) - แป้นหลีก
๒. Tab key - แป้นตั้งระยะ
๓. Caps Lock key - แป้นตรึงอักษรตัวใหญ่
๔. Shift key - แป้นเปลี่ยนชุดอักษร
๕. Ctrl key (Control key) - แป้นควบคุม
๖. Command key - แป้นคำสั่งงาน
๗. Alt key (Alternate key) - แป้นสลับ, Option key - แป้นทางเลือก
๘. Backspace key - แป้นถอยหลัง, Del key (Delete key) - แป้นลบ
๙. Return key - แป้นขึ้นบรรทัด, Enter key - แป้นป้อนเข้า
คิวอาร์โคด - บาร์โคด
QR Code ย่อมาจาก Quick Response Code หมายถึง รหัสที่ใช้สัญลักลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมแทนข้อมูล สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ด้วยสมาร์ตโฟน
ใช้ทับศัพท์ว่า คิวอาร์โคด
Barcode หมายถึง รหัสที่ใช้สัญลักษณ์เส้นที่เป็นแถบมีความหนาต่างกัน แทนข้อมูล
มีศัพท์บัญญัติว่า รหัสแท่ง หรือใช้ทับศัพท์ว่า บาร์โคด
** คำว่า code สะกดทับศัพท์ว่า โคด**
กริยา-กิริยา
ถึงแม้คำว่า กริยา และ กิริยา จะมีรูปเขียนและการออกเสียงที่คล้ายกัน แต่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ เหมือนกับคำว่า ภรรยา-ภริยา หรือ ปกติ-ปรกติ
กริยา อ่านว่า กฺริ-ยา หรือ กะ-ริ-ยา เป็นคำที่ใช้ในไวยากรณ์เท่านั้น หมายถึง คำที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม เช่น ในประโยค ฉันกินข้าว คำว่า กิน เป็นคำกริยา
กิริยา เป็นคำนาม หมายถึง การกระทำ หรืออาการที่แสดงออกมาทางกาย, มารยาท เช่น การพูดจามีหางเสียงเป็นกิริยาของสุภาพชน
ดังนั้น คำว่า กริยา จะใช้ในทางไวยากรณ์เท่านั้น หากจะกล่าวถึง ท่าทางที่แสดงออกของคน สัตว์ ให้ใช้คำว่า กิริยา
ดิถี
ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม ❌
ในวาระขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม ✅
ดิถี หมายถึง วันทางจันทรคติ มาจากภาษาบาลีว่า ติถิ ใช้ในการกำหนดวันเดือนปี โดยใช้เวลาที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก เช่น วันขึ้น ๑ ค่ำ เรียก ดิถี ๑
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เรียก ดิถี ๑๕ หรือวันแรม ๑ ค่ำ เรียก ดิถี ๑๖
ดังนั้น หากจะใช้ในความหมาย วันที่ ๑ มกราคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ จึงไม่ควรใช้คำว่า ดิถี ควรใช้เพียงว่า ในวาระขึ้นปีใหม่ เท่านั้น
เฉลยคำถาม ในกิจกรรม ไขปัญหา...ภาษาไทย ในวันลอยกระทง
คำถาม : ๑. คำว่า กระทง ที่เป็นภาชนะสำหรับลอยน้ำในวันลอยกระทง
มีลักษณนามว่าอะไร
คำตอบ : ใบ หรือลูก เช่น รณรงค์ให้ลอยกระทงครอบครัวละ ๑ ใบ หรือ ทำกระทงลอย ๓ ลูก
คำถาม : ๒. คำนามคำใด ที่มีลักษณนามว่า กระทง
คำตอบ : มีหลายคำ เช่น ข้อหา หรือความผิดทางอาญา
#กิจกรรมไขปัญหาภาษาไทยxลอยกระทง
วันนี้ เรามีคำถามเกี่ยวกับคำว่า "กระทง" มาฝากกันชวนคิดสองข้อค่ะ
๑. คำว่า กระทง ที่เป็นภาชนะสำหรับลอยน้ำในวันลอยกระทง มีลักษณนามว่าอะไร
๒. คำนามคำใด ที่มีลักษณนามว่า กระทง
ใครรู้คำตอบข้อไหนสามารถพิมพ์แสดงความคิดเห็นมาร่วมสนุกกันได้นะคะ
รอเฉลยวันพรุ่งนี้ เวลาสองทุ่มนะคะ
พรุ่งนี้ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันลอยกระทง
วันนี้ เราจะมีเสนอความรู้ภาษาไทยที่เกี่ยวกับคำว่า กระทง กันค่ะ
กระทง มีหลายความหมาย ความหมายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวันลอยกระทง มีดังนี้
กระทง เป็นคำนาม หมายถึง ภาชนะเย็บด้วยใบตองหรือใบไม้ ยกขอบสูงสำหรับใส่ของ เช่น กระทงห่อหมก กระทงตะโก้ หรือ ภาชนะที่ทำขึ้นสำหรับลอยน้ำในประเพณีลอยกระทง
กระทงที่เป็นภาชนะนี้ มาจากคำภาษาเขมรว่า กนฺโทง (อ่านว่า ก็อน-โตง)
ชื่อเดือนที่ ๘
วันนี้นอกจะเป็นวันที่ ๑ สิงหาคม ซึ่งเป็นวันแรกของเดือน ก็ยังเป็นวันอาสาฬหบูชาอีกด้วย ในทางภาษา ก็มีความสัมพันธ์กันอยู่ จะสัมพันธ์กันอย่างไรนั้น เราจะมาอธิบายกันค่ะ
สิงหาคม หมายถึง ชื่อเดือนที่ ๘ ของปีสุริยคติ มี ๓๑ วัน มาจาก สิงห + อาคม
คำว่า สิงห ในภาษาสันสกฤต ว่า สิํห หรือ ในภาษาบาลีว่า สีห หมายถึง ชื่อกลุ่มดาวรูปสิงห์ เป็นราศีที่ ๔ ในจักรราศี สนธิกับคำว่า อาคม ซึ่งหมายถึง การมา, การมาถึง เป็นคำว่า สิงหาคม
อาสาฬห-, อาสาฬห์ หมายถึง ชื่อเดือนที่ ๘ แห่งเดือนจันทรคติ
คำนี้ พบในคำว่า อาสาฬหบูชา ซึ่งสามารถอ่านได้ ๒ แบบ คือ อ่านตามหลักว่า อา-สาน-หะ-บู-ชา หรืออ่านตามความนิยมว่า อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
สรุป คำว่า สิงหาคม เป็นชื่อเดือนที่ ๘ ตามการนับเดือนแบบสุริยคติ และ อาสาฬห เป็นชื่อเดือนที่ ๘ ตามการนับเดือนแบบจันทรคติ นั่นเองค่ะ
เราขอเสนอความรู้เกี่ยวกับคำราชาศัพท์
วันนี้เราจะมาในหมวดร่างกาย และเป็นอวัยวะที่เห็นบนใบหน้า มีอวัยวะอะไรกันบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
คำทับศัพท์ในหมวด ผัก - ผลไม้
วันนี้จะขอรวบรวม ผักและผลไม้ ที่รู้จักกันทั่วไป และมักเขียนทับศัพท์จากคำภาษาอังกฤษ คลาดเคลื่อนอยู่บ้าง จำนวน ๑๐ ชนิด ดังนี้
๑. apple ทับศัพท์ว่า แอปเปิล
๒. avocado ทับศัพท์ว่า แอโวคาโด, อาโวคาโด
๓. blackberry ทัพศัพท์ว่า แบล็กเบอร์รี
๔. broccoli ทับศัพท์ว่า บรอกโคลี
๕. cantaloupe ทับศัพท์ว่า แคนทาลูป
๖. carrot ทับศัพท์ว่า แคร์รอต
๗. cherry ทับศัพท์ว่า เชอร์รี
๘. kiwi ทับศัพท์ว่า คีวี
๙. raspberry ทับศัพท์ว่า ราสป์เบอร์รี
๑๐. strawberry ทับศัพท์ว่า สตรอว์เบอร์รี
มืดตึ๊ดตื๋อ
หลายคนมักเข้าใจว่า ตึ๊ดตื๋อ แปลว่า มืด
แต่ที่จริงแล้ว ตึ๊ดตื๋อ ไม่ได้แปลว่า มืด แต่ ตึ๊ดตื๋อ เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง มาก ใช้ประกอบคำว่า มืด เป็น มืดตึ๊ดตื๋อ แปลว่า มืดมาก
นอกจากนี้ มีอีกหลายคำที่ใช้ประกอบคำอื่น มีความหมายว่า มาก, จัด, ยิ่งกว่าปกติ เช่น
_จั๊วะ ในคำว่า ขาวจั๊วะ
_จี๊ด ในคำว่า เปรี้ยวจี๊ด
_เจี๊ยบ ในคำว่า เย็นเจี๊ยบ
_แจ๊ด ในคำว่า แดงแจ๊ะ
_จี๋ ในคำว่า ร้อนจี๋
_จู๋ ในคำว่า สั้นจู๋
_จ๋อย ในคำว่า หวานจ๋อย
_ชุก ในคำว่า ฝนชุก
_ปี๋ ในคำว่า เค็มปี๋, ดำปี๋
_ปึ้ด ในคำว่า ดำปึ้ด
_ปื๋อ ในคำว่า ดำปื๋อ, เขียวปื๋อ
_เฟื้อย ในคำว่า ยาวเฟื้อย
_อ๋อย ในคำว่า เหลืองอ๋อย
_อื้อ ในคำว่า รวยอื้อ
***ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นคำที่มีความหมายว่า มาก, ยิ่งกว่าปกติเหมือนกัน ถือเป็นคำพ้องความหมาย แต่ไม่ใช่ทุกคำที่จะใช้แทนกันได้ เช่น ขาวจั๊วะ ที่หมายถึง ขาวมาก แต่ไม่สามารถใช้ว่า ดำจั๊วะ ให้หมายถึง ดำมาก ได้ การพ้องความหมายในลักษณะนี้ จะต้องใช้อย่างพิจารณาความเหมาะสม หรือสถานการณ์เฉพาะด้วย
(ใครมีคำที่พ้องความหมายในลักษณะนี้ ที่มีความหมายว่า มาก, ยิ่ง, จัด, ยิ่งกว่าปกติ สามารถแสดงความคิดเห็นพร้อมตัวอย่างการใช้ในคอมเมนต์ได้เลยค่ะ)
ลักษณนามของปากกาและดินสอ
หลายคนคงเคยทราบมาก่อนว่า ลักษณนามของดินสอ คือ แท่ง และลักษณนามของ ปากกา คือ ด้าม แต่เคยสงสัยไหมว่า ลักษณะของดินสอและปากกา คล้ายกันมาก ทำไมจึงใช้ลักษณนามต่างกัน วันนี้เรามีคำอธิบายค่ะ
- ดินสอ หมายถึง เครื่องเขียนอย่างหนึ่ง ทำด้วยวัตถุต่าง ๆ ชนิดที่ไส้ทำด้วยแกรไฟต์ผสมดินเหนียว มีไม้หุ้ม เรียกว่า ดินสอ หรือ ดินสอดำ, ถ้าไส้ไม้มีสีต่าง ๆ เรียกว่า ดินสอสี, ถ้าทำจากหินชนวน เรียกว่า ดินสอหิน
มีลักษณนามว่า แท่ง ซึ่งเป็นลักษณะของสิ่งที่ตันและกลมยาวหรือแบนหนา เช่น ชอล์กหรือดินสอ
- ปากกา หมายถึง เครื่องสำหรับขีดเขียนชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยตัวปากและด้าม ตัวปากมักทำด้วยโลหะ ใช้เสียบที่ด้ามจุ้มหมึกหรือน้ำสีอื่นเขียน
มีลักษณนามว่า ด้าม ซึ่ง เป็นส่วนของสิ่งที่ใช้ถือ หรือจับ
สรุปว่า สาเหตุที่มีลักษณนามต่างกัน เนื่องจาก ดินสอ เรียกตามลักษณะที่เป็นสิ่งที่ตันและกลมยาว แต่ปากกา (ในสมัยก่อน) จะมีด้ามจับที่เสียบกับตัวปาก เพื่อใช้จุ้มหมึกเพื่อเขียน นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันเพื่อความสะดวก จะใช้ไส้บรรจุหมึกสำเร็จรูป เรียกว่า ปากกาลูกลื่น
ม่อห้อม, ม่อฮ่อม, หม้อห้อม คำนี้สะกดได้ทั้ง ๓ แบบ
เป็นคำนาม หมายถึง เสื้อคอกลม แขนสั้นผ่าอกตลอด มักย้อมเป็นสีน้ำเงินเข้มหรือดำ
คำ ม่อฮ่อม เป็นคำภาษาถิ่นล้านนา แต่เดิมไม่ได้หมายถึงเสื้อ แต่หมายถึงสีของเสื้อที่เป็นสีครามอมดำ มาจาก ๒ คำ คือ มอหรือม่อ หมายถึง สีมืดหรือสีคราม และ ฮ่อม หมายถึง สีครามที่ได้จากต้นฮ่อม (ไม้ล้มลุก ต้นเป็นพุ่มชนิดหนึ่ง)
copy
copy เป็นศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารเทศ หมายถึง การคัดลอกข้อความหรือภาพบางส่วน หรือทั้งหมดจากต้นแบบหรือต้นฉบับเพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์
คำนี้มีศัพท์บัญญัติเป็นภาษาไทยว่า สำเนา
และคำทับศัพท์ว่า ก๊อบปี้
คำสองพยางค์ที่สะกดด้วย ร เรือ และ ล ลิง
มีคำสองพยางค์หลายคำที่สะกดด้วย ร เรือ และ ล ลิง และมักจะสะกดผิด เนื่องด้วยเกิดจากการสับสน วันนี้ เรารวบรวมมาให้ดูกันค่ะ
กลุ่มที่ ๑ คำที่สะกดด้วย ร เรือ ทั้งสองพยางค์ เช่น ร้างรา รุ่มร่าม รุ่ยร่าย เรี่ยราด เรี่ยไร
กลุ่มที่ ๒ คำที่พยางค์แรก สะกดด้วย ร เรือ และพยางค์ที่สอง สะกดด้วย ล ลิง เช่น ร่ำลา ร่ำลือ
กลุ่มที่ ๓ คำที่พยางค์แรก สะกดด้วย ล ลิง และพยางค์ที่สอง สะกดด้วย ร เรือ เช่น ลิดรอน เลิกรา เลือนราง
กลุ่มที่ ๔ คำที่สะกดด้วย ล ลิง ทั้งสองพยางค์ เช่น เล้าโลม ไล่เลี่ย ไล่เลียง หลุดลุ่ย ล่ำลา
เซ็นชื่อ เซนติเมตร เปอร์เซ็นต์
ทั้งสามคำข้างต้น เป็นคำทับศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษ เมื่อถอดการสะกดเป็นภาษาไทย จะใช้หลักเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสภา ดังนี้
๑. เซ็น ทับศัพท์จาก sign หมายถึง ลงลายมือชื่อ
๒. เซนติเมตร ทับศัพท์จาก centimetre หมายถึง ชื่อมาตราวัดตามวิธีเมตริก มีอัตราเท่ากับ ๑ใน ๑๐๐ ของ ๑ เมตร
๓. เปอร์เซ็นต์ ทับศัพท์จาก percent หมายถึง จำนวนที่เทียบเป็นส่วนร้อยหรือร้อยละ, การคิดเทียบเป็นส่วนร้อย
ถึงแม้ในภาษาพูดจะออกเสียงคล้ายกัน แต่เมื่อสะกดเป็นภาษาเขียนแล้ว มีการสะกดต่างกัน อย่างชัดเจน ดังนั้น อย่าสับสนเวลาใช้นะคะ
สุญญากาศ ไม่ใช่ สูญญากาศ
สุญ, สุญญ และ สูญ ทั้งหมด มาจากคำในภาษาบาลี ว่า สุญฺญ
โดยที่ สุญ และ สุญญ เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง ว่างเปล่า
และ สูญ เป็นคำกริยา หมายถึง ทำให้หายสิ้นไป และเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง ที่หมดไป
ดังนั้น คำว่า สุญญากาศ จึงสะกดด้วยสระอุ มาจากคำว่า สุญญ + อากาศ หมายถึง ที่ที่ไม่มีอากาศ
ศัพท์บัญญัติ และ คำทับศัพท์
หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่ผู้ติดตามพูดถึงกันอย่างมาก วันนี้เราจะมาให้ความหมายและความแตกต่างของคำทั้งสองคำนี้ค่ะ
- ศัพท์บัญญัติ คือ คำที่กำหนดขึ้นใหม่ เพื่อใช้แทนคำในภาษาต่างประเทศ ซึ่งจะพยายามใช้คำไทยก่อน ต่อเมื่อหาคำไทยที่เหมาะสมหรือตรงความหมายของศัพท์ไม่ได้แล้ว จึงหาคำจากภาษาบาลีและสันสกฤตที่มีใช้อยู่แล้ว มาประกอบเป็นคำศัพท์
- คำทับศัพท์ คือ คำที่เขียนจากคำในภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยด้วยตัวอักษรและตามวิธีของภาษาไทย
ปัญหาของศัพท์บัญญัติที่พบบ่อยคือ ไม่สามารถใช้สื่อสารให้ตรงตามความต้องการได้ เพราะจะใช้คำประกอบขึ้นใหม่ทั้งหมด และคนมักจะมองว่าเป็นเรื่องยาก เรื่องตลก ช้า ล้าสมัย ด้วยความไม่ชิน ทำให้คนมักจะใช้คำทับศัพท์มากกว่า เพราะอย่างน้อยคำทับศัพท์ก็มีเสียงอ่านที่ใกล้เคียงกับศัพท์ในภาษาเดิมมากกว่า
แต่อย่างไรก็ตามนะคะ ทั้งศัพท์บัญญัติและคำทับศัพท์ มีหลักเกณฑ์ค่ะ นั่นก็เพื่อความเป็นเอกภาพในภาษา โดยเฉพาะในภาษาเขียน เพื่อให้สื่อความได้ตรงกัน ไม่เสียหายนะคะ ที่จะเปิดใจรับ เพราะสุดท้ายแล้ว ภาษาทุกภาษามีการเปลี่ยนแปลงค่ะ หากคำที่คิดขึ้น ไม่สามารถใช้สื่อสารกันได้ คำนั้นจะหายไปเอง
คีย์บอร์ด (keyboard) - อุปกรณ์รับข้อมูลของเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยปกติมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าของแผงปุ่มตัวอักษร ตัวเลข หรือสัญลักษณ์ในภาษาต่าง ๆ สำหรับป้อนข้อมูลส่งให้คอมพิวเตอร์ประมวลผล.
คำนี้มีคำใช้เรียกเป็นภาษาไทยว่า แผงแป้นอักขระ
คอมพิวเตอร์ (computer) - เครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ ทำหน้าที่เสมือนสมองกลใช้สำหรับแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งที่ง่ายและซ้บซ้อน โดยวิธีทางคณิตศาสตร์
คำนี้มีคำใช้เรียกเป็นภาษาไทยอย่างถูกต้องว่า คณิตกรณ์
หรืออาจใช้ทับศัพท์ว่า คอมพิวเตอร์ ก็ได้
ลักษณนามของทางต่าง ๆ
ทาง เป็นคำนาม หมายถึง ที่สำหรับเดินไปมา, แนวหรือพื้นที่สำหรับใช้สัญจร
ทางโดยทั่ว ๆ ไป มีลักษณนามว่า ทาง, สาย, เส้น
แต่มีทางบางประเภทที่มีคำลักษณนามโดยเฉพาะ ดังนี้
๑. ทางด่วน หมายถึง ทางหรือถนนซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้เดินทางได้รวดเร็วและปลอดภัย โดยไม่มีทางอื่นตัดผ่านในระดับเดียวกัน มีคำลักษณนามว่า สาย เช่น ใช้ทางด่วนสายนี้ จะถึงที่หมายภายในครึ่งชั่วโมง
๒. ทางเท้า หมายถึง ทางข้างถนนที่มักยกสูงขึ้นใช้สำหรับคนเดิน มีคำลักษณนามว่า ทาง เช่น ถนนนี้มีทางเท้า ๒ ทาง
๓. ทางม้าลาย หมายถึง พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดินเท้าข้ามถนน โดยทาสีขาวดำเป็นแถบสลับกัน มีลักษณนามว่า แห่ง เช่น ทางม้าลายแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อให้นักเรียนข้ามถนนอย่างปลอดภัย
ลักษณนามของ "ช้าง"
ช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ สามารถทำตามคำสั่งของคนได้ สามารถฝึกให้ทำงานต่าง ๆ ได้หลายอย่าง ในสมัยก่อนมีการฝึกเพื่อเป็นพาหนะในการทำสงคราม จนถึงให้มีตำแหน่งหรือมียศ ลักษณนามของช้าง จึงมีความพิเศษเช่นกัน ดังนี้
- ช้างป่า ที่อาศัยในป่าตามธรรมชาติ มีลักษณนามว่า ตัว เช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น เจอช้างป่ามากินดินโป่ง ๕ ตัว
-ช้างบ้าน ที่คนใช้เชือกไปคล้องมาฝึกทำงานต่าง ๆ มีลักษณนามว่า เชือก เช่น ศูนย์แสดงช้างนำช้างมีแสดง ๓ เชือก
-ช้างหลวง ที่ขึ้นระวาง มีลักษณนามว่า ช้าง เช่น ในโรงช้างหลวงมีอยู่ ๑ ช้าง
คำบอกสี
ในภาษาไทย มีคำบอกสีมากมาย และการให้ความหมายของคำเหล่านี้ จะเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรารู้จักกันดี วันนี้เรารวบรวมคำบอกสีมาให้ทราบกันค่ะ
๑. ขาว
๒. เหลือง
๓. ส้ม
๔. น้ำตาล
๕. ชมพู
๖. แดง
๗. เขียว
๘. ฟ้า
๙. น้ำเงิน
๑๐. ม่วง
๑๑. เทา
๑๒. ดำ
ลักษณนามของพระพุทธรูป - พระสงฆ์
๑. ลักษณนามของพระพุทธรูป คือ องค์
เช่น บนหิ้งพระมีพระพุทธรูปอยู่ ๓ องค์
๒. ลักษณนามของพระสงฆ์ คือ รูป, องค์
เช่น เช้าวันนี้มีพระสงฆ์มาบิณฑบาต ๓ รูป หรือ นิมนต์พระไปสวดจำนวน ๙ องค์
จะเห็นว่า ลักษณนามของพระพุทธรูป คือ องค์ เท่านั้น แต่ ลักษณนามของพระสงฆ์ สามารถใช้ได้ทั้ง รูป และองค์
ว่าด้วยเรื่อง video
คำว่า video มีศัพท์บัญญัติว่า วีดีทัศน์ มาจาก วีติ + ทัศน์
วีติ เป็นคำภาษาสันสฤต หมายถึง ความสนุกสนานรื่นเริง และ ทัศน์ หมายถึง ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง พอใช้เป็นศัพท์บัญญัติจึงยังคงรูปในภาษาเดิมไว้ เป็น วีดิทัศน์
ดังนั้น วีดิทัศน์ จึงหมายถึง การเห็นสิ่งที่สนุกสนานรื่นเริง
และคำว่า video ใช้ทับศัพท์ว่า วิดีโอ เป็นการถอดเสียงจากภาษาอังกฤษ
โดย i ถอดเป็นสระ อิ และ e ถอดเป็นสระ อี จึงเขียนทับศัพท์ว่า วิดีโอ
จะเห็นว่า วิดีโอ และวีดิทัศน์ ต่างก็ใช้แทน video ได้ทั้งสิ้น แต่มีที่มาต่างกัน จึงอย่านำมาสับสนรวมกัน เป็น วีดิโอ หรือวิดีทัศน์ **